คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15241/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิก พ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ “เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ “เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 310 พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 4, 5, 7
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสาม (ที่ถูก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3) มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 มาตรา 5, 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระ ทำของจำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกัน รับ หน่วงเหนี่ยว กักขังเด็ก จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำคุกคนละ 2 ปี รวมสองกระทง จำคุกคนละ 5 ปี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 ตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 แม้ความผิดฐานสมคบและรับ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขัง ซึ่งเด็ก ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษเป็นคดีนี้ ยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 ก็ตาม แต่องค์ประกอบความผิดตามกฎหมายใหม่ต้องเป็นการกระทำ “เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” โดยมาตรา 4 นิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น ฟ้องโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏครบถ้วนถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำเพื่อรับเงินค่าตอบแทนในการจัดส่งคนไปทำงานกับบุคคลอื่น อันเป็นการใช้วิธีการหาเงินอันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยเด็กไม่ยินยอม โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำ “เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” ตามที่กฎหมายใหม่บัญญัติไว้ ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามกฎหมายใหม่ได้ เป็นกรณีที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนี้ขึ้นวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share