แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
รถโดยสารคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับได้จอดอยู่บนสะพาน ด้วยเหตุรถเสียตั้งแต่เวลาประมาณ 22 นาฬิกา โดยจำเลยที่ 3 เปิดไฟกะพริบไว้ทางด้านท้ายรถโดยสารและได้นำเบาะรถมาวางพาดไว้ทางด้านซ้ายรถโดยสารทั้งนำถุงพลาสติกมาผูกติดไว้เพื่อให้สามารถมองเห็นได้เป็นเครื่องหมายในการป้องกันเหตุ แต่จุดที่รถโดยสารจอดอยู่นั้นเลยส่วนโค้งกลางสะพานไปเพียง 30 เมตร และรถที่แล่นมาจะสามารถเห็นรถโดยสารที่จอดเสียนั้นต่อเมื่อขึ้นโค้งสะพานแล้ว ไฟกะพริบที่จำเลยที่ 3 เปิดไว้ก็ดี เบาะรถตลอดจนถุงพลาสติกที่ผูกติดไว้ก็ดี ล้วนแต่อยู่ติดกับตัวรถโดยสารทั้งสิ้นระยะห่างที่สามารถเห็นได้จึงอยู่ในระยะเดียวกับที่รถโดยสารจอดเสียคือประมาณ 30 เมตร จากส่วนโค้งกลางสะพานเท่านั้น โดยเป็นระยะที่กระชั้นชิดซึ่งคาดเห็นได้ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่รถยนต์ที่สัญจรได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดอันตราย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า เมื่อวันที่ 25ต่อเนื่องถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 3 ขับรถโดยสารหมายเลขทะเบียน 11-2558ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตามถนนสาธรแล้วล้อหลังของรถโดยสารเกิดขัดข้อง จำเลยที่ 3 จึงจอดรถโดยสารทิ้งไว้บนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินโดยมิได้แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณใด ๆ ให้รถคันอื่นทราบ เป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 4 ข-3727 ชนท้ายรถโดยสารคันดังกล่าวถึงแก่ความตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 813,500 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย 336,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เหตุละเมิดคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายเอง ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 262,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 72,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 254,333.33บาท แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาทเลินเล่อในการก่อเหตุคดีนี้ด้วยหรือไม่ และจำนวนค่าเสียหายที่ศาลกำหนดสูงเกินไปนั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 คงวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1ซึ่งคดีมีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 มีส่วนประมาทเลินเล่อในการก่อเหตุคดีนี้ด้วยหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า รถโดยสารคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับนั้นได้จอดอยู่บนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ด้วยเหตุรถเสียตั้งแต่เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ของวันที่ 25 ตุลาคม 2534 โดยจำเลยที่ 3 ได้เปิดไฟกะพริบไว้ทางด้านท้ายรถโดยสารและได้นำเบาะรถมาวางพาดไว้ทางด้านท้ายรถโดยสารทั้งนำถุงพลาสติกมาผูกติดไว้เพื่อให้สามารถมองเห็นได้เป็นเครื่องหมายในการป้องกันเหตุ แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จุดที่รถโดยสารจอดอยู่นั้นเลยส่วนโค้งกลางสะพานไปเพียง30 เมตร และรถที่แล่นมาจะสามารถเห็นรถโดยสารที่จอดเสียนั้นต่อเมื่อขึ้นโค้งสะพานแล้ว ไฟกะพริบที่จำเลยที่ 3 เปิดไว้ก็ดี เบาะรถตลอดจนถุงพลาสติกที่ผูกติดไว้ก็ดี ล้วนแต่อยู่ติดกับตัวรถโดยสารทั้งสิ้น ระยะห่างที่สามารถเห็นได้จึงอยู่ในระยะเดียวกับที่รถโดยสารจอดเสีย คือประมาณ 30 เมตร จากส่วนโค้งกลางสะพานเท่านั้น โดยเป็นระยะที่กระชั้นชิดซึ่งคาดเห็นได้ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่รถยนต์ที่สัญจรได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุโดยตรงที่ก่อให้เกิดอันตรายและเป็นต้นเหตุแห่งคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน และยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2