คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ทำสัญญาประกันตัว ป. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาไว้ต่อศาลและจำเลยทำสัญญาให้โจทก์ไว้ว่า หาก ป. ไม่ไปศาลตามนัด และโจทก์ต้องชำระค่าปรับต่อศาล จำเลยจะยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ส่งตัว ป. ต่อศาลและขอถอนประกัน จำเลยขอให้โจทก์ประกันตัว ป. ต่อ โดยจำเลยจะยอมรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเดิมที่จำเลยทำไว้ให้โจทก์ การตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในครั้งหลังนี้ แม้จะไม่มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญ ก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะสัญญานี้มิใช่สัญญาที่จำเลยผูกพันตนเข้าชำระหนี้ ในเมื่อ ป. ไม่ชำระหนี้อันเป็นการค้ำประกันที่จะต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกันมาใช้บังคับ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับกันระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น ดังนั้น เมื่อ ป. ไม่ไปศาล จนศาลสั่งปรับโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันตัวนายประดิษฐ์ นุรารักษ์ต่อศาลอาญาในระหว่างสอบสวน โดยจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันนายประดิษฐ์ต่อโจทก์ว่า ถ้าโจทก์จะต้องรับผิดใช้เงินต่อศาลอาญาจำเลยจะยอมรับผิดใช้เงินให้โจทก์ ต่อมานายประดิษฐ์หลบหนีไม่ไปศาล ศาลจึงปรับโจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวแต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงต้องชำระเงินค่าปรับดังกล่าวเอง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 40,244 พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าญาติของนายประดิษฐ์เคยนำหนังสือค้ำประกันผู้ต้องหามาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยไม่ได้กรอกข้อความ ต่อมานายประกันได้นำตัวนายประดิษฐ์ส่งศาลและยกเลิกสัญญาประกันแล้ว ญาติของนายประดิษฐ์ได้ติดต่อให้โจทก์ประกันตัวนายประดิษฐ์อีก จึงไม่เกี่ยวกับสัญญาที่จำเลยลงลายมือชื่อ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 40,141 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยได้ทำสัญญา ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ในการที่โจทก์ได้ทำสัญญาประกันตัวนายประดิษฐ์ในระหว่างสอบสวนต่อศาล และต่อมาโจทก์ได้ขอถอนประกัน ศาลได้ออกหมายขังนายประดิษฐ์ไว้ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขอประกันตัวนายประดิษฐ์ในระหว่างสอบสวนอีก ศาลได้สั่งปล่อยชั่วคราว ครั้นถึงวันนัดส่งตัวนายประดิษฐ์ต่อศาลนายประดิษฐ์ไม่มาศาล ศาลจึงสั่งปรับโจทก์รวมค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายด้วยเป็นเงิน 40,141 บาท และโจทก์ได้เสียค่าปรับแล้ว ตามเอกสารหมาย จ.5 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย จ.2 ต้องถือว่าจำเลยทำสัญญารับผิดไว้ต่อโจทก์ตลอดเวลาการฝากขังในระหว่างสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่าเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความเป็นสาระสำคัญว่า ในระหว่างที่ประกันตัวนี้ ถ้านายประดิษฐ์หลบหนีไม่มาศาลตามกำหนด และศาลสั่งปรับนายประกัน จำเลยผู้มีนามข้างท้ายในฐานะผู้ค้ำประกันตัวนายประดิษฐ์ ขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับตามคำสั่งศาลแทนนายประกันทั้งสิ้น และสัญญาประกันนี้ประกันให้เฉพาะในระหว่างสอบสวนจนเสร็จการฝากขังของพนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นแม้ศาลสั่งปรับโจทก์ซึ่งเป็นนายประกันตัวนายประดิษฐ์ เพราะนายประดิษฐ์ไม่มาศาลอันเป็นการผิดสัญญาประกันที่โจทก์ทำต่อศาลในครั้งหลัง ก็ถือได้ว่ายังไม่เสร็จการฝากขังของพนักงานสอบสวนแม้ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย จ.2 จะระบุถึงเฉพาะสัญญาประกันที่โจทก์ทำไว้ต่อศาลในครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 (ที่ถูกคือ 11)ธันวาคม 2527 ก็ตามแต่คดีได้ความจากตัวโจทก์และนางสาวเกศรินทร์ลุยจันทร์ พยานโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยื่นคำร้องขอถอนประกันนายประดิษฐ์ว่า เมื่อศาลได้ออกหมายขังนายประดิษฐ์แล้ว จำเลยได้พูดโทรศัพท์ขอให้โจทก์ประกันตัวนายประดิษฐ์ต่อโดยถือสัญญาประกันเดิม โจทก์จึงได้ทำสัญญาประกันตัวนายประดิษฐ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2527 การตกลงในครั้งหลังนี้แม้จะมิได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นสำคัญ ก็มีผลใช้บังคับได้ เพราะสัญญานี้มิใช่สัญญาที่จำเลยผูกพันตนเข้าชำระหนี้ในเมื่อนายประดิษฐ์ไม่ชำระหนี้อันเป็นการค้ำประกันที่จะต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 11 เรื่องค้ำประกันมาใช้บังคับ แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับกันระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น ดังนั้นสัญญาเอกสารหมาย จ.2 จึงหาได้ระงับสิ้นไปดังที่จำเลยแก้ฎีกาไม่ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share