คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไร คงกล่าวแต่เพียงว่า ถ้าจำเลยทราบวันนัดก็จะต้องนำหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างแน่นอน เพราะจำเลยมีทางชนะคดีของโจทก์ได้เท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า หากมีการพิจารณาคดีใหม่แล้ว ศาลอาจพิพากษาให้จำเลยชนะคดีได้ คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายหลงลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกซุงหมายเลขทะเบียน ล.บ.๐๑๑๙๗ ในกิจการของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน ช.ย.๐๑๒๘๐ ซึ่งโจทก์ได้รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายต้องซ่อมและเปลี่ยนอุปกรณ์บางส่วน รวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน ๓๓๙,๒๕๐ บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๓๓๙,๒๕๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่โดยกล่าวว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นไปโดยมิชอบ จำเลยไม่ทราบประกาศของศาลทางหนังสือพิมพ์ จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา เพราะไม่ทราบการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลแต่ต้นและไม่มีผู้ใดรับทราบวันนัดของศาลแทน แม้กระทั่งในการส่งหรือแจ้งคำบังคับให้จำเลยจำเลยไม่ทราบ ถ้าจำเลยทราบก็จะต้องนำหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างแน่นอน เพราะจำเลยมีทางที่จะชนะคดีของโจทก์
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า การส่งหมายและสำเนาคำฟ้องเป็นไปโดยชอบแล้ว จำเลยขาดนัดโดยจงใจ คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยยื่นเมื่อพ้นกำหนด ๑๕ วันนับแต่วันที่จำเลยทราบคำบังคับและคำขอให้พิจารณาใหม่มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐๘ ขอให้ยกคำขอของจำเลย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้พิจารณาใหม่และงดการบังคับคดีไว้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งถึงข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลเพื่อแสดงว่าตนอาจชนะคดีได้อย่างไร คงกล่าวแต่เพียงว่า ถ้าจำเลยทราบวันนัดก็จะต้องนำหลักฐานเข้าต่อสู้คดีอย่างแน่นอนเพราะจำเลยมีทางที่จะชนะคดีของโจทก์เท่านั้น โดยไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานอ้างอิงที่จะแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าหากมีการพิจารณาใหม่แล้ว ศาลอาจพิพากษาให้จำเลยชนะคดีได้ คำขอให้พิจารณาใหม่ของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา ๒๐๘ วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ศาลจะสั่งให้มีการพิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๕๐/๒๕๑๕ คดีระหว่างกรมทางหลวง โจทก์ บริษัทประมวลก่อสร้าง จำกัด จำเลย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share