คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3321/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเล่นสนุกเกอร์มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่น การเก็บเงินจากผู้เล่นจึงมีส่วนทำให้ผู้เล่นพนันเอาทรัพย์สินกันเพื่อนำเอาเงินส่วนหนึ่งมาชำระค่าเล่นเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามในวันเวลาเดียวกันแสดงว่ามีการเล่นการพนันสนุกเกอร์ถึง 3 โต๊ะเป็นลักษณะเล่นกันโดยเปิดเผย มิใช่ลักษณะลักลอบเล่น จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างผู้ร้อง เป็นผู้ดูแลอยู่ที่สมาคมของผู้ร้อง หากผู้ร้องห้ามเล่นสนุกเกอร์จริงแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่น่าจะกล้าจัดให้มี การเล่นโดยเปิดเผยเช่นนี้ การที่ผู้ร้องปิดป้ายห้ามเล่นการพนัน ไว้ที่ทางเข้าสมาคมน่าจะเพียงเพื่อนำไว้ใช้เป็นหลักฐาน ที่จะอ้างว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำผิดด้วยเท่านั้น เชื่อได้ว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งรวมกัน
คดีสืบเนื่องมาจากทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ, 5, 6,10, 12, 15 และสำนวนแรกริบโต๊ะสนุกเกอร์ 1 ตัวลูกสนุกเกอร์ 1 ชุด เงินสด 40 บาท และไม้คิว 3 อัน ของกลางสำนวนที่สองริบโต๊ะสนุกเกอร์ 1 ตัว ลูกสนุกเกอร์ 1 ชุด ไม้คิว 3 อันและเงินสด 50 บาท ของกลาง สำนวนที่สามริบโต๊ะสนุกเกอร์1 ตัว ลูกสนุกเกอร์ 1 ชุด เงินสด 60 บาท และไม้คิว 3 อันของกลาง
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนยื่นคำร้อง มีใจความเช่นเดียวกันว่าโต๊ะสนุกเกอร์ ลูกสนุกเกอร์และไม้คิว ของกลางเป็นของผู้ร้องผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดขอให้สั่งคืนของกลางดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนยื่นคำคัดค้าน มีใจความเช่นเดียวกันว่าผู้ร้องมิใช่เจ้าของที่แท้จริงสำหรับของกลางดังกล่าว และผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาทั้งสามสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของโต๊ะสนุกเกอร์กับลูกสนุกเกอร์และไม้คิวของกลาง เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2539 เวลา 0.04 นาฬิกาจำเลยแต่ละสำนวนทั้งสามสำนวนร่วมกันเล่นการพนันสนุกเกอร์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยใช้โต๊ะสนุกเกอร์กับลูกสนุกเกอร์และไม้คิว ของกลางเป็นเครื่องมือในการเล่นการพนัน ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดหรือไม่ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเบิกความว่า ผู้ร้องห้ามเล่นการพนันโดยปิดป้ายไว้ที่ทางเข้าของสมาคม ผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยที่จำเลยที่ 1 กับพวกลักลอบเล่นการพนันสนุกเกอร์ แต่ผู้ร้องก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ผู้ร้องซื้อโต๊ะสนุกเกอร์มาเพื่อต้องการเก็บเงินจากลูกค้าผู้เข้ามาเล่น เห็นว่า การเล่นสนุกเกอร์มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้เล่น การเก็บเงินจากผู้เล่นจึงมีส่วนทำให้ผู้เล่นพนันเอาทรัพย์สินกันเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาชำระค่าเล่น เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามสำนวนในวันเวลาเดียวกัน แสดงว่ามีการเล่นการพนันสนุกเกอร์ถึง3 โต๊ะ เป็นลักษณะเล่นกันโดยเปิดเผย มิใช่ลักษณะลักลอบเล่นจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างผู้ร้อง เป็นผู้ดูแลอยู่ที่สมาคมของผู้ร้องหากผู้ร้องห้ามเล่นสนุกเกอร์จริงแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่น่าจะกล้าจัดให้มีการเล่นโดยเปิดเผยเช่นนี้ การที่ผู้ร้องปิดป้ายห้ามเล่นการพนันไว้ที่ทางเข้าของสมาคม น่าจะเพียงเพื่อนำไว้ใช้เป็นหลักฐานที่จะอ้างว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำผิดด้วยเท่านั้น ศาลฎีกาเชื่อว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share