คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีกัญชาไว้ในความครอบครองเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้กัญชาและเมล็ดกัญชาก็คือกัญชาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้น การที่จำเลยมีกัญชาและเมล็ดกัญชาในขณะเดียวกัน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นการกระทำผิด เพียงกรรมเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2522 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจมีกัญชาแห้ง 1 ถุง หนัก 50 กรัม และเมล็ดกัญชา 1 ถุง หนัก 50 กรัม ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมายและโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยกัญชาและเมล็ดกัญชาเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 4,7, 8, 9, 13, 26, 76, 102, 103 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 4, 7, 8, 9, 13, 26, 76, 102, 103 ลงโทษฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองจำคุก 6 เดือน ฐานมีเมล็ดกัญชา 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ของกลางริบ

จำเลยอุทธรณ์ ขอให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นการกระทำผิดเพียงกรรมเดียว พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 76 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยมีกัญชาและเมล็ดกัญชาไว้ในความครอบครองต้องถือว่าเป็นความผิดสองกรรม จะต้องรับโทษแยกต่างหากจากกันนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 บัญญัติเพียงว่า การมีกัญชาไว้ในความครอบครองเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ กัญชาและเมล็ดกัญชาก็คือกัญชาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้น การที่จำเลยมีกัญชาและเมล็ดกัญชาในขณะเดียวกันอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นการกระทำผิดเพียงกรรมเดียว ที่โจทก์ฎีกาอีกว่า ตามพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 ได้แยกความผิดการมีกัญชาไว้ในมาตรา 7 และได้แยกการมีพันธุ์กัญชาไว้ในมาตรา 5 ซึ่งมีโทษในมาตรา 9 และมาตรา 10 แตกต่างกัน ต้องถือว่าเป็นความผิดสองกรรมนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477 ที่โจทก์ยกขึ้นมาเป็นข้อฎีกานี้ ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จึงจะนำมาเป็นหลักวินิจฉัยในคดีนี้ไม่ได้

พิพากษายืน

Share