แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารอันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ แม้ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของ ย.ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวของย.และย. กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เป็นผู้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 3 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไรของ ย.กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับบุคคลทั้งสองนั้น อันจะเป็นเหตุให้ ย.กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อ ย. กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ.ต้องรับผิดในเมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่าย. กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 3ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์โดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน 1 จ. – 8686กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการประกันภัย และเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 ไว้ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 เวลาประมาณ 6.30 น. จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ.00002 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาท ชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 1 จ. – 8686 กรุงเทพมหานคร ทำให้รถของโจทก์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 36,467 บาทแก่โจทก์ และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอันตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,521 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระแก่โจทก์ 43,997 บาท ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 43,997 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน36,467 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การความว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1 จ. – 8686 กรุงเทพมหานคร จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายของรถยนต์ที่ถูกชนไม่เกิน 10,000 บาทจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 และไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถชนกันนี้คนขับรถคันหมายเลขทะเบียน 1 จ. – 8686 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วยจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 จริงแต่จำเลยที่ 3 จะรับผิดต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 43,988 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 36,467 บาท นับถัดจากวันฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ไม่ใช่รับผิดฐานละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปีแต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ต่อสู้อายุความตามสัญญาประกันภัยจึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัย และข้อเท็จจริงได้ความว่านางสาวยุพดี และห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทรานสปอร์ต เป็นผู้เอาประกันภัย และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 บุคคลทั้งสองต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนเป็นผู้รับผิดแทนบุคคลทั้งสองผู้เอาประกันภัยโดยผลของสัญญาพิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องหรือนำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยคือนางสาวยุพดีอย่างไร และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับนางสาวยุพดีอย่างไรแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 อันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ ถึงแม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของนางสาวยุพดีได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ. – 00002 ของนางสาวยุพดี และนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์เป็นผู้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไรของนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ผู้เอาประกันและมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับบุคคลทั้งสองนั้นอันจะเป็นเหตุให้นางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ต้องรับผิดในเมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่า นางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้ออื่นต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.