คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาโดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ธ. เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ดังนั้น ขณะที่ ธ. ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ธ. ยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยศาลฎีกาเห็นควรเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของ ธ. เสีย และมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 57348 ตำบลคำไฮใหญ่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว นายธงชัยบุตรของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การในนามของจำเลยที่ 1 และขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลวิกลจริตและหายจากบ้านไปนานแล้ว ระหว่างที่มีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 1 นายธงชัยไปทำงานต่างจังหวัด จึงขอขยายระยะเวลาไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ จากนั้นศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้นายธงชัยผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ ดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 จึงถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายธงชัยเข้าดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 1 โดยปริยาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารโดยห้ามเข้ายุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท (น.ส.3 ก.) เลขที่ 82 เล่ม 1 ข หน้า 32 เลขที่ดิน 53 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน (น.ส.4 จ.) เลขที่ดิน 97 เล่ม 574 หน้า 48 หน้าสำรวจ 777 เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคำไฮใหญ่ (ปัจจุบันเป็นกิ่งอำเภอดอนมดแดง) อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การในกำหนดจึงสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะออกจากบ้านตามภูมิลำเนาไปตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2540 โดยไม่มีผู้ใดทราบข่าวคราวก็ตาม แต่ขณะที่เจ้าพนักงานศาลนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่อยู่และตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ หรือมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนสาบสูญแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ได้อาศัยอยู่กับจำเลยที่ 2 และยังมีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนบ้านตามที่อยู่ในคำฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง ดังนั้น ที่อยู่ตามคำฟ้องจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปที่ว่า คำสั่งของศาลล่างทั้งสองที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า นายธงชัยเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ไม่อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 48 วรรคสอง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2544 ดังนั้น ขณะที่นายธงชัยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 นายธงชัยยังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 โดยศาลฎีกาเห็นควรเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของนายธงชัยเสีย และมีคำสั่งไม่รับคำร้องดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน และให้เพิกถอนคำสั่งรับคำร้องตลอดจนกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแทนจำเลยที่ 1 ของนายธงชัย และไม่รับคำร้องดังกล่าว คืนค่าคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share