แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่จำเลยกับผู้ตายโต้เถียง กันอยู่นั้น จำเลยได้ใช้มีดแทงผู้ตาย 1 ที ส่วนที่ผู้ตายใช้เหล็กตีศีรษะจำเลยนั้น ตีหลังจากที่จำเลยแทงผู้ตายแล้ว ดังนั้นขณะที่จำเลยแทงผู้ตายไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะต้องป้องกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา60 พรรษาฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคมพ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2530 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” และมาตรา 3 ได้ให้ความหมายของคำว่า”ผู้ต้องโทษ” ไว้ว่า “หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือให้กักกัน…” ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2528 การที่ศาลกำหนดโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้เท่ากับจำเลยยังมิได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยจึงมิใช่ “ผู้ต้องโทษ” ตามความหมายของมาตรา 3,4แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้ศาลจึงนำโทษจำคุกที่รอไว้มาบวกกับโทษในคดีนี้ได้.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม2529 เวลากลางวัน จำเลยพามีดปลายแหลม 1 เล่ม ไปในถนนเพชรเกษมอันเป็นถนนสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยใช้มีดดังกล่าวแทงนายสุชาติหรือตี๋ ปัญญามีเสมอ ที่บริเวณหน้าอก 1 ที โดยเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้นายสุชาติถึงแก่ความตาย และจำเลยใช้มีดดังกล่าวเฉียนทำร้ายร่างกาย นายสง่า แสงสว่าง 1 ที ที่บริเวณฝ่ามือทั้งสองข้าง เป็นเหตุให้นายสง่าได้รับอันตรายสาหัส ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงธนบุรีให้จำคุก 15 วันปรับ 2,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ฐานขับรถโดยประมาท เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2528 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12950/2528 จำเลยมากระทำผิดคดีนี้ในระหว่างที่ศาลรอการลงโทษไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91, 288,295, 371 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบมีดปลายแหลมของกลางและบวกโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12950/2528 ของศาลแขวงธนบุรีเข้ากับโทษคดีนี้
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกและรอการลงโทษไว้จริงตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91 ฐานฆ่าผู้อื่น ให้วางโทษจำคุก 18 ปี ฐานพามีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ให้วางโทษปรับ 80 บาท รวมจำคุกจำเลย 18 ปี ปรับ 80 บาท จำเลยให้การและนำสืบรับว่าได้ใช้มีดแทงผู้ตายจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลย 12 ปี ฐานพามีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลย 40 บาทรวมจำคุกจำเลย 12 ปี ปรับ 40 บาท ให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ฐานขับรถโดยประมาทตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12950/2528 ของศาลแขวงธนบุรีเข้ากับโทษจำเลยในคดีนี้ รวมจำคุกจำเลย 12 ปี 15 วัน และปรับ 40บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนริบมีดปลายแหลมของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอบวกโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12950/2528 ของศาลแขวงธนบุรีเข้ากับคดีนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์สำนวนแรก และจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ขณะที่จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันอยู่นั้น จำเลยได้ใช้มีดแทงผู้ตาย1 ที ส่วนที่ผู้ตายใช้เหล็กตีศรีษะจำเลยนั้น ตีหลังจากที่จำเลยแทงผู้ตายแล้ว ดังนั้นขณะที่จำเลยแทงผู้ตายไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะต้องป้องกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น…
ส่วนปัญหาตามที่โจทก์สำนวนแรกฎีกาว่า จะนำโทษที่รอมาบวกกับโทษในคดีนี้ได้หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้ลางมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยดทษ พ.ศ. 2530 โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ” และมาตรา 3 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ผู้ต้องโทษ” ไว้ว่า “หมายความว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ลงโทษหรือให้กักกัน…” ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยพิพากษาเมื่อวันที่20 ธันวาคม 2528 การที่ศาลกำหนดโทษจำคุกแต่รอการลงโทษไว้เท่ากับจำเลยยังมิได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยจึงมิใช่ “ผู้ต้องโทษ”ตามความหมายของมาตรา 3, 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ได้รับผลตามพระราชบัญญัตินี้ ศาลจึงนำโทษจำคุกที่รอไว้มาบวกกับโทษในคดีนี้ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุก 15 วัน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12950/2528 ของศาลแขวงธนบุรีที่รอไว้มาบวกกับโทษในคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 12 ปี 15 วัน ปรับ 40 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.