คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายนอนอยู่กับพื้นมีรอยฟกช้ำดำเขียวตามตัว ไม่รู้สึกตัวมีอาการหนัก ฉะนั้น คำเบิกความของ ผู้เสียหายที่ว่าเห็นคนร้ายคนที่ถอดหมวกไหมพรมและจำได้ว่าเป็นจำเลย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง คงรับฟังได้แต่เพียงว่าคนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายและได้พูดกับผู้เสียหายนั้นผู้เสียหายฟังคล้าย ๆ กับเสียงของจำเลย ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่ยืนยันแน่ชัดว่าคนร้ายที่พูดนั้นเป็นจำเลย แม้ผู้เสียหายจะมีสาเหตุโกรธเคืองกับ จ. และจำเลยมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับ จ. ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า คนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายเป็นจำเลย ส่วนหมวกไหมพรมของกลางที่ยึดได้จากบ้านพักจำเลยเป็นสีแดงดำก็แตกต่างกับที่ ผู้เสียหายระบุว่าคนร้ายสวมหมวกไหมพรมสีแดง พยานหลักฐานโจทก์ ที่นำสืบมายังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควร ว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้อง ต้องยกประโยชน์แห่งความ สงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ได้ความจากแพทย์ว่า บาดแผลของผู้เสียหายไม่น่าจะถึงกับสลบก็ตามแต่เป็นการตรวจอาการบาดเจ็บหลังจากเกิดเหตุแล้ว1 วัน แพทย์ไม่มีโอกาสเห็นลักษณะอาการของผู้เสียหายในช่วงระยะเวลาที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายใหม่ ๆ ความเห็นของแพทย์จึงย่อมคลาดเคลื่อนได้ คำให้การในชั้นสอบสวนของ ถ. ไม่แตกต่างกับคำเบิกความของ ถ.ในชั้นพิจารณาเพียงแต่ในชั้นพิจารณาถ. เบิกความขยายรายละเอียด คำเบิกความและคำให้การของ ถ. จึงไม่มีข้อพิรุธว่าเป็นการเพิ่มเติมหรือขยายความเพื่อช่วยเหลือจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี, 83 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 118,720 บาทที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง, 340 ตรี จำคุก 18 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 118,720 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง นายวิชัยเนียมสังข์ ผู้เสียหายได้ถูกคนร้าย 4 คน มีอาวุธปืนเป็นอาวุธร่วมกันปล้นทรัพย์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 118,720 บาท ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.2 โดยคนร้ายใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญและร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย แล้วคนร้ายใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลบหนีไป หลังจากเกิดเหตุในวันเดียวกันผู้เสียหายได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยยืนยันว่าจำได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งและพักอยู่ที่บ้านพักของสำนักงานชลประทาน เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปจับจำเลยพร้อมยึดได้หมวกไหมพรมสีแดงดำ 1 ใบ ที่บ้านพักจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุที่จำคนร้ายคนหนึ่งว่าเป็นจำเลยได้ว่า คนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายได้พูดขึ้นว่า มึงทำงานขัดขวางบริษัท ช่วงขณะเกิดเหตุพยานยังไม่ทราบว่าเป็นใครคนร้ายพยายามดัดเสียง แต่พยานฟังแล้วก็คล้าย ๆ กับเสียงของจำเลย ผู้เสียหายยังเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า พยานหมอบอยู่กับพื้นเพียงอึดใจเดียวก็เงยหน้าขึ้นมองก็เห็นคนร้ายทั้งสี่วิ่งไปที่รถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน ซึ่งจอดอยู่ที่ศาลาพักร้อน ห่างจากสำนักงานประมาณ 5 เมตร แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหนีไป มีคนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ แล้วถอดหมวกไหมพรมสีแดงออก แล้วยังหันหน้ามาที่สำนักงานนายถ่วง กล่ำพะบุตร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความแตกต่างกับผู้เสียหายในเรื่องคนร้ายที่ถอดหมวกไหมพรม โดยนายถ่วงเบิกความว่า คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้ถอดหมวกไหมพรมออกแล้วถือไว้ แต่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า คนร้ายถอดหมวกไหมพรมขึ้นจนถึงเหนือคิ้วแต่ไม่ได้ถอดออกจากศีรษะ นอกจากนี้นายถ่วงยังเบิกความแตกต่างกับผู้เสียหายในเรื่องอาการบาดเจ็บของผู้เสียหาย โดยนายถ่วงเบิกความว่า เมื่อคนร้ายขับรถจักรยานยนต์หนีไปแล้ว พยานเข้าไปที่สำนักงานของกรมชลประทานพบผู้เสียหายนอนอยู่กับพื้น มีรอยฟกช้ำดำเขียวตามตัวไม่รู้สึกตัว พยานเห็นดังนั้นจึงไปตามเจ้าพนักงานตำรวจที่ป้อมตำรวจสวนแตง หลังจากแจ้งความแล้วพยานเห็นว่าผู้เสียหายมีอาการหนักจึงได้ไปบอกหน่วยกู้ภัยสวนแตงให้มาช่วย เมื่อมาถึงสำนักงานพบเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงแล้ว ผู้เสียหายได้สติรู้สึกตัวแต่ยังมีอาการมึนงง หน่วยกู้ภัยจึงไม่ได้นำส่งโรงพยาบาลทันที เจ้าพนักงานตำรวจได้สอบปากคำผู้เสียหาย พยานไม่ได้ยืนดูหรือฟังแต่ผู้เสียหายเบิกความว่าพยานหมอบอยู่กับพื้นเพียงอึดใจเดียวก็เงยหน้าขึ้นมองก็เห็นคนร้ายทั้งสี่วิ่งไปที่รถจักรยานยนต์จำนวน 2 คัน ซึ่งจอดอยู่ที่ศาลาพักร้อนห่างจากสำนักงานประมาณ 5 เมตร แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ขับหนีไป มีคนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วถอดหมวกไหมพรมสีแดงออก ข้อความที่ขัดแย้งกันในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายยืนยันว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีสติรู้สึกตัวตลอดเวลา ซึ่งนับว่าแตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของนายถ่วงในสาระสำคัญ ชั้นสอบสวนนายถ่วงก็ได้ให้การไว้ ตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.1 ว่า เมื่อกลุ่มคนร้ายหลบหนีไปแล้ว พยานวิ่งไปดูผู้เสียหาย พบว่านอนอยู่กับพื้นซีเมนต์ในสำนักงาน จึงช่วยกันกับเพื่อนบ้านประคองขึ้นมานั่งบนเก้าอี้แล้วพยานก็ขับรถจักรยานยนต์ไปตามเจ้าพนักงานตำรวจ คำให้การชั้นสอบสวนของนายถ่วงดังกล่าวไม่แตกต่างกับคำเบิกความของนายถ่วงในชั้นพิจารณา เพียงแต่ในชั้นพิจารณานายถ่วงเบิกความขยายรายละเอียดว่าผู้เสียหายนอนในลักษณะไม่รู้สึกตัว คำเบิกความและคำให้การของนายถ่วงจึงไม่มีข้อพิรุธว่าเป็นการเพิ่มเติมหรือขยายความเพื่อช่วยเหลือจำเลยแต่อย่างใด ทั้งนางตาด คุ้มพันธ์แย้มพยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านสอดคล้องกับคำเบิกความของนายถ่วงว่า นายถ่วงวิ่งไปที่สำนักงานเป็นคนแรก และนายถ่วงบอกคนอื่นว่าจะไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ประมาณ 20 นาที มีเจ้าพนักงานตำรวจมาที่สำนักงานแม้นางตาดจะเบิกความถึงอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายหลังเกิดเหตุว่าผู้เสียหายไม่เป็นอะไร เห็นมีรอยแดง ๆ บริเวณคอก็ตามก็เป็นเรื่องที่ นางตาด ไปดูผู้เสียหายหลังจากนายถ่วงและชาวบ้านเข้าไปในสำนักงานที่เกิดเหตุแล้ว จึงอาจเป็นไปได้ที่ นางตาดไม่ทันเห็นอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายดังเช่นที่นายถ่วงเห็นประกอบกับนางตาดมิได้เบิกความถึงเรื่องที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายได้หยิบสร้อยคอทองคำโยนให้นางตาดซึ่งจะทำให้เชื่อได้ว่าในขณะนั้นผู้เสียหายยังมีสติดีอยู่สามารถแย่งชิงสร้อยคอทองคำกับคนร้ายได้ แม้นายแพทย์พรชัย บุญแสงพยานโจทก์เบิกความถึงบาดแผลของผู้เสียหายว่า สันนิษฐานว่าจะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 10 วัน และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จากบาดแผลของผู้เสียหายทั้งหมด ผู้เสียหายไม่น่าจะถึงกับสลบก็ตามแต่ก็เป็นการตรวจอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายหลังจากเกิดเหตุแล้ว 1 วัน นายแพทย์พรชัยไม่มีโอกาสเห็นลักษณะอาการของผู้เสียหายในช่วงระยะเวลาที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายใหม่ ๆ ความเห็นของนายแพทย์พรชัยจึงย่อมจะคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ได้ความชัดแจ้งว่าคนร้ายได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายอย่างไรบ้างจนถึงกับทำให้ผู้เสียหายมีรอยฟกช้ำหลายแห่ง ผู้เสียหายเพียงแต่กล่าวรวม ๆ ว่าถูกทำร้ายเท่านั้น ซึ่งหากผู้เสียหายยังมีสติดีอยู่ในขณะถูกทำร้ายก็น่าจะบอกได้ว่าคนร้ายแต่ละคนทำร้ายผู้เสียหายในลักษณะใด นอกจากนี้จากคำเบิกความของผู้เสียหายได้ความว่า ในช่วงระยะเวลาที่เจ้าพนักงานตำรวจได้มายังที่เกิดเหตุ เมื่อผู้เสียหายแจ้งความแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจได้พาผู้เสียหายไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เมื่อสอบปากคำผู้เสียหายเสร็จแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้พาผู้เสียหายไปหาแพทย์เพื่อรักษาร่างกายที่คลินิกพรชัยการแพทย์นั้น ตามคำเบิกความดังกล่าวของผู้เสียหายจะต้องเข้าใจได้ว่าผู้เสียหายไปพบแพทย์ในวันเกิดเหตุ แต่นายแพทย์พรชัยเบิกความว่า ตรวจรักษาผู้เสียหายในวันที่11 มิถุนายน 2537 ซึ่งเป็นวันหลังเกิดเหตุ 1 วัน จึงต้องรับฟังตามที่นายแพทย์พรชัยเบิกความในเรื่องนี้ การที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ได้ไปหาแพทย์เพื่อรักษาร่างกายในวันเกิดเหตุย่อมมีเหตุสงสัยว่าในวันเกิดเหตุนั้นเอง หลังเกิดเหตุผู้เสียหายยังไม่ไปหานายแพทย์พรชัยที่คลินิกพรชัยการแพทย์ แต่ได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อน ซึ่งในข้อนี้พันตำรวจโทชัยรัตน์ ทิพย์จันทร์ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา หลังจากรับแจ้งเหตุแล้วร้อยตำรวจเอกศักดิ์ชัย ประสานทอง เดินทางไปดูที่เกิดเหตุ พยานตามไปทีหลัง เมื่อถึงที่เกิดเหตุไม่พบผู้เสียหายเพราะไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อตามที่นายถ่วงเบิกความว่า หลังเกิดเหตุผู้เสียหายนอนอยู่กับพื้นมีรอยฟกช้ำดำเขียวตามตัว ไม่รู้สึกตัว มีอาการหนัก ฉะนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่าเห็นคนร้ายคนที่ถอดหมวกไหมพรมและจำได้ว่าเป็นจำเลยย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง คงรับฟังได้แต่เพียงว่า คนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายและได้พูดกับผู้เสียหายนั้นผู้เสียหายฟังคล้าย ๆ กับเสียงของจำเลย ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่ยืนยันแน่ชัดว่าคนร้ายที่พูดนั้นเป็นจำเลย แม้ผู้เสียหายจะมีสาเหตุโกรธเคืองกับนายจารึก และจำเลยมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับนายจารึก ก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า คนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายเป็นจำเลย ส่วนหมวกไหมพรมของกลางที่ยึดได้จากบ้านพักจำเลยเป็นสีแดงดำก็แตกต่างกับที่ผู้เสียหายระบุว่าคนร้ายที่ล็อกคอและใช้อาวุธปืนจี้ท้ายทอยผู้เสียหายสวมหมวกไหมพรมสีแดง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำมายังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำผิดตามฟ้อง จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share