คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6033/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทแทน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์โดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 จำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลยที่ 5 ก็เป็นการกระทำโดยชอบเช่นกัน โจทก์ที่ 1ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายและการจำนอง
โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2491โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2504 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส อันเป็นสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 แห่ง ป.พ.พ.บรรพ 5 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมา เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ทำสัญญาก่อนสมรสให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการสินบริคณห์ หรือให้จัดการร่วมกับโจทก์ที่ 1 ดังนั้น โจทก์ที่ 1จึงยังคงเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1468 ที่ดินพิพาทมิใช่สินเดิมของโจทก์ที่ 2 หรือสินสมรสที่โจทก์ที่ 2 ได้มาโดยการยกให้หรือทางพินัยกรรม และการจำหน่ายที่ดินพิพาทมิใช่เป็นการยกให้โดยเสน่หา โจทก์ที่ 1จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 2 ก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1473 เดิมนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ไม่อาจที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้
โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยชอบ เมื่อจำเลยที่ 4 บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป การที่โจทก์ที่ 1 ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทต่อมาจึงเป็นการอยู่โดยละเมิด ทำให้จำเลยที่ 4 เสียหาย จำเลยที่ 4จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ 1 ได้
คดีรวมการพิพากษาเข้าด้วยกัน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ ร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความกับจำเลยทั้งสองสำนวนโดยไม่แยกเป็นรายสำนวนไม่ถูกต้อง เพราะสำนวนที่สองโจทก์มิได้เป็นคู่ความด้วยศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

Share