แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาศาลชั้นต้นพิมพ์นามสกุลจำเลยที่ 1 “คล่องอักขระ” ผิดเป็น “คล่องอักษร” เป็นการพิมพ์ผิดพลาดเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์โดยมีบัญชีเงินฝากอยู่ในธนาคารโจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท 57 จำเลยที่ 1 ได้นำเช็คเดินทางและเช็คส่วนตัวมาเข้าบัญชีในสาขาทั้งสองเพื่อให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาเข้านั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้ด้วยเหตุต่าง ๆ เมื่อจำเลยที่ 1 นำเช็คมาเข้าบัญชี เจ้าหน้าที่สาขาทั้งสองของโจทก์ได้เปลี่ยนค่าเงินตราเป็นเงินไทยและเข้าในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 โดยยังมิได้ทราบผลว่าเช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาเข้าเรียกเงินได้หรือไม่ เป็นผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์สงสัยว่าจำเลยที่ 1 กับเจ้าหน้าที่ของโจทก์จะยักยอกฉ้อโกงโจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงยอมชดใช้เงินให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและสัญญาว่าจะจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 เป็นประกันหนี้สินและความรับผิดของจำเลยทั้งสองด้วย แต่จำเลยทั้งสองบิดพลิ้ว จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสองตามสัญญา ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์ได้ฟ้องของให้บังคับจำเลยใช้หนี้ให้โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงและสัญญาค้ำประกัน คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 บัญญัติไว้แล้ว คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
บันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 กับพวกทำกับโจทก์ในข้อ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเช็คต่าง ๆ มาให้โจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท 57 เรียกเก็บเงินจากธนาคารต่างประเทศ และสาขาทั้สองได้นำเข้าบัญชีกระแสรายวันแล้วเท่าที่ตรวจพบในขณะทำบันทึกมีจำนวนประมาณ 5,035,407 บาทนั้น จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้เงินจำนวนนี้ให้กับธนาคารโจทก์เป็นงวด ๆ ตามที่ปรากฏในสัญญาข้อ 2 และเพื่อเป็นหลักประกันจำเลยที่ 1 จะจัดให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดที่ 1193 มาจำนองเป็นหลักประกันภายในวงเงินไม่เกิน 3,000,000 บาท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญากันต่อไป ตอนท้ายของบันทึกลงชื่อของจำเลยที่ 1 กับพวก และนายสำราญผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ตามบันทึกข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทในทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ให้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนจำนองและจำเลยที่ 1 กับพวกจะไม่ดำเนินการกล่าวหาโจทก์หรือพนักงานของโจทก์นั้น เป็นหนี้หรือนัยหนึ่งข้อตกลงในสัญญาที่ลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติก่อนที่โจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ มิใช่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจัดการให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองตามข้อตกลง จำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเงื่อนไขแห่งนิติกรรมที่เงื่อนไขจะสำเร็จหรือไม่สุดแต่ใจของลูกหนี้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดชอบตามบันทึกข้อตกลงและตามหนังสือค้ำประกัน แม้ว่าตามฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถึงเรื่องการที่จำเลยที่ 1 นำเช็คมาเข้าบัญชีให้โจทก์เรียกเก็บเงินและเช็คเก็บเงินไม่ได้และถูกส่งคืนก็เป็นแต่เพียงมูลเหตุถึงที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงและหนังสือค้ำประกันขึ้นเท่านั้นฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเรียกเงินตามสัญญา ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ทำให้โจทก์ยึดถือไว้ซึ่งอายุความฟ้องคดีชนิดนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีสิทธิฟ้องได้ภายในอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 และเมื่อจำเลยผิดสัญญา การที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่เป็นสิทธิของโจทก์เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาสัญญาก็ยังมีอยู่ โจทก์มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลให้สั่งบังคับจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 213
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงไปโดยถูกข่มขู่ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาโดยสิ้นเชิง มิใช่แต่เพียงไม่ยอมรับผิดตามข้อสัญญาในเรื่องชำระหนี้แต่ละงวด โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินได้ทั้งหมดเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะแต่งวดที่ผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอ้างเงื่อนเวลาเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การสู้คดีโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากทำหนังสือค้ำประกันโดยสำคัญผิด เท่ากับสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเสียแล้ว
จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้ทำบันทึกข้อตกลงให้โจทก์ไว้จริง แต่ต่อสู้ว่าทำโดยถูกข่มขู่ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับว่าได้ทำหนังสือค้ำประกันไว้จริง แต่ต่อสู้ว่ากระทำโดยสำคัญผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประกันตัวจำเลยที่ 1 ฉะนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มขู่หรือไม่ และจำเลยที่ 2 สำคัญผิดหรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายนำสืบก่อนไม่ใช่ฝ่ายโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าของโจทก์โดยมีบัญชีเงินฝากอยู่ในธนาคารโจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท ๕๗ จำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คเดินทางและเช็คส่วนตัวมาเข้าบัญชีในสาขาทั้งสองเพื่อให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารต่างประเทศแต่ปรากฏว่าเช็คที่จำเลยที่ ๑ นำมาเข้านั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้ด้วยเหตุต่าง ๆ เมื่อจำเลยที่ ๑ นำเช็คมาเข้าบัญชี เจ้าหน้าที่สาขาทั้งสองของโจทก์ได้เปลี่ยนค่าเงินตราเป็นเงินไทยและเข้าในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ โดยยังมิได้ทราบผลว่าเช็คที่จำเลยที่ ๑ นำมาเข้าเรียกเก็บเงินได้หรือไม่ เป็นการผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์สงสัยว่าจำเลยที่ ๑ กับเจ้าหน้าที่ของโจทก์จะยักยอกฉ้อโกงโจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงยอมชดใช้เงินให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน และสัญญาว่าจะจำนองที่ดินของจำเลยที่ ๒ เป็นประกันหนี้สินและความรับผิดของจำเลยทั้งสองด้วย แต่จำเลยทั้งสองบิดพลิ้ว ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญาให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า บันทึกข้อตกลงนั้นจำเลยที่ ๑ กระทำไปโดยถูกข่มขู่ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ เช็คฉบับต่าง ๆ โจทก์เรียกเก็บและรับเงินไปถูกต้องแล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้องและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นเกี่ยวกับทำบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ส่วนสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ลงชื่อไปโดยสำคัญผิดเข้าใจว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกันตัวจำเลยที่ ๑ สัญญาค้ำประกันจึงตกเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๒ มิได้ผิดนัด โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยมิได้ และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ตกลงให้ดอกเบี้ยโจทก์ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี หากจำเลยที่ ๒ ต้องเสียดอกเบี้ยก็ต้องชำระเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น ตามบันทึกข้อตกลงว่าจำเลยที่ ๑ มีสิทธิผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ เดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ไม่มีข้อความว่าผิดนัดงวดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และจำเลยที่ ๑ คงค้างชำระหนี้เพียง ๓ งวด โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ได้เพียง ๓ งวด และอาจเรียกให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ได้เพียง ๓ พวกเช่นกัน ทั้งตามกฎหมายผู้ค้ำประกันไม่ต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดชำระแม้ลูกหนี้ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับแก่จำเลยที่ ๒ ได้ ตามบันทึกข้อตกลงข้อ ๓ มีความว่า จำเลยที่ ๑ จะจัดให้จำเลยที่ ๒ นำที่ดินตามที่ระบุไว้มาจำนองเป็นประกัน ข้อ ๔ ระบุว่า เพื่อเป็นไปตามข้อตกลงนี้ทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแพ่งและอาญาต่อกันโดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการจดทะเบียนจำนองที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เป็นเรื่องสุดแต่ใจของจำเลย บันทึกข้อตกลงจึงเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะสำเร็จหรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้ ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งหมด การค้ำประกันจึงไม่เป็นผลด้วย และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้และจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยฎีกาว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันนายสวัสดิ์ คล่องอักขระ จำเลยที่ ๑ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสวัสดิ์ คล่องอักขระ ใช้เงินให้โจทก์ และโจทก์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ มิได้ค้ำประกันนายสวัสดิ์ คล่องอักษร จึงหลุดพ้นความรับผิดเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ให้รับผิด การที่คำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่าเป็นนายสวัสดิ์ คล่องอักษร เป็นการพิมพ์ผิดพลาดเล็กน้อย ศาลมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งและไม่มีรายละเอียดพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้เป็นฟ้องเคลือบคลุม พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกค้าของโจทก์โดยมีบัญชีเงินฝากอยู่ในธนาคารโจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท ๕๗ จำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คเดินทางและเช็คส่วนตัวมาเข้าบัญชีในสาขาทั้งสองเพื่อให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารต่างประเทศแต่ปรากฏว่าเช็คที่จำเลยที่ ๑ นำเข้านั้นเรียกเก็บเงินไม่ได้ด้วยเหตุต่าง ๆ เมื่อจำเลยที่ ๑ นำเช็คมาเข้าบัญชี เจ้าหน้าที่สาขาทั้งสองของโจทก์ได้เปลี่ยนค่าเงินตราเป็นเงินไทยและเข้าในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ โดยยังมิได้ทราบผลว่าเช็คที่จำเลยที่ ๑ นำมาเข้าเรียกเก็บเงินได้หรือไม่ เป็นการผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์สงสัยว่าจำเลยที่ ๑ กับเจ้าหน้าที่ของโจทก์จะยักยอกฉ้อโกงจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดี จำเลยที่ ๑ ได้ทำบันทึกข้อตกลงยอมชดใช้เงินให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันและสัญญาว่าจะจำนองที่ดินของจำเลยที่ ๒ เป็นประกันหนี้สินและความรับผิดของจำเลยทั้งสองด้วย แต่จำเลยทั้งสองบิดพลิ้ว จึงฟ้องเรียกเงินจากจำเลยทั้งสองตามสัญญา เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ใช้หนี้ตามบันทึกข้อตกลงและตามสัญญาค้ำประกัน คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ บัญญัติไว้แล้ว คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าบันทึกข้อตกลงเป็นโมฆะเพราะเป็นสัญญาหรือนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะสำเร็จหรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้ อันเป็นผลให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นความรับผิดดับไปด้วย พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าสัญญาหรือบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาหรือนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนอันจะสำเร็จหรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้หรือไม่นั้น บันทึกข้อตกลงลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๙ ที่จำเลยที่ ๑ กับพวกทำกับโจทก์ ในข้อ ๑ ระบุว่า จำเลยที่ ๑ ได้นำเช็คต่าง ๆ มาให้โจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท ๕๗ เรียกเก็บเงินจากธนาคารต่างประเทศ และสาขาทั้งสองได้นำเข้าบัญชีกระแสรายวันแล้วเท่าที่ตรวจพบในขณะทำบันทึกมีจำนวนประมาณ ๕,๐๓๕,๔๐๗ บาท เงินจำนวนนี้จำเลยที่ ๑ ยอมให้โจทก์นำเงินที่จำเลยที่ ๑ แบ่งและถอนฝากไว้ที่ธนาคารโจทก์สาขาคลองตันและสาขาสุขุมวิท ๕๗ หักออกคงเหลือเงินที่จำเลยที่๑ ได้รับจากธนาคาร ๓,๕๗๙,๐๕๔ บาทนั้น จำเลยที่ ๑ ยอมชดใช้เงินจำนวนนี้ให้ธนาคารโจทก์เป็นงวด ๆ ตามที่ปรากฏในข้อ ๒ และเพื่อเป็นหลักประกันจำเลยที่ ๑ จะจัดให้จำเลยที่ ๒ นำที่ดินโฉนดที่ ๑๑๙๓ ตำบลดอนเมือง อำเภอบางเขน มาจำนองเป็นหลักประกันภายในวงเงินไม่เกิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีในทางแพ่งและอาญากันต่อไป ตอนท้ายของบันทึกลงชื่อจำเลยที่ ๑ กับพวกและนายสำราญผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทั้งสองฝ่ายมุ่งประสงค์จะระงับข้อพิพาทในทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ข้อตกลงที่ว่าโจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ให้ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนจำนองและจำเลยที่ ๑ กับพวกจะไม่ดำเนินการกล่าวหาโจทก์หรือพนักงานของโจทก์นั้น เป็นหนี้หรือนัยหนึ่งข้อตกลงในสัญญาที่ลูกหนี้คือจำเลยที่ ๑ จะต้องปฏิบัติก่อนที่โจทก์จะถอนคำร้องทุกข์ มิใช่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นความพ้นความรับผิด เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่สามารถจัดการให้จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนจำนองตามข้อตกลง จำเลยที่ ๑ ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มิใช่เป็นเงื่อนไขแห่งนิติกรรมที่เงื่อนไขจะสำเร็จหรือไม่สุดแต่ใจของลูกหนี้
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดตามบันทึกข้อตกลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๙ และตามหนังสือค้ำประกัน แม้ว่าตามคำฟ้องโจทก์จะได้บรรยายถึงเรื่องการที่จำเลยที่ ๑ นำเช็คมาเข้าบัญชีให้โจทก์เรียกเก็บเงินและเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ และถูกส่งคืนก็เป็นแต่เพียงมูลเหตุถึงที่มาของการทำบันทึกข้อตกลงและหนังสือค้ำประกันขึ้นเท่านั้นฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซึ่งจำเลยทั้งสองได้ทำให้โจทก์ยึดถือไว้ซึ่งอายุความฟ้องคดีชนิดนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ กำหนดให้ฟ้องคดีได้ภายในสิบปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ทำบันทึกข้อตกลงและทำหนังสือค้ำประกันให้โจทก์เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๑๙ แล้วบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น นับแต่วันทำบันทึกข้อตกลงและหนังสือค้ำประกันจนถึงวันโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยจึงยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาสิบปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดเมื่อใด เมื่อจำเลยที่ ๑ มิได้เป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันพิเคราะห์ฟ้องโจทก์แล้ว ในคำฟ้องโจทก์ข้อ ๒ ได้บรรยายมีใจความสำคัญว่าเงินที่จำเลยที่ ๑ รับว่าจะชำระให้โจทก์จำนวน ๓,๕๗๙,๐๕๔ บาทนั้น จำเลยที่ ๑ ชำระให้โจทก์เป็นงวดแรก ๖๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลือสัญญาว่าจะผ่อนชำระให้เป็นรายเดือน เดือนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาททุกเดือนไปจนกว่าจะครบถ้วน เริ่มชำระคราวแรกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทำบันทึกดังกล่าว และในข้อ ๔ ก็ได้กล่าวชัดว่านับแต่ทำบันทึกข้อตกลงแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ผ่อนชำระเงินที่สัญญาว่าจะผ่อนชำระนั้นให้แก่โจทก์โจทก์ได้ให้ทนายโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ชำระให้ จากคำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่าโจทก์ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ได้ผิดนัดต่อโจทก์ คือมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดโจทก์ก็มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๖ ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วเรียกเงินคืนกับเรียกค่าเสียหาย แต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนทั้งหมดตามฟ้องเห็นว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา การที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่เป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาสัญญาก็ยังมีอยู่ โจทก์มีสิทธิที่จะร้องต่อศาลให้สั่งบังคับจำเลยให้ชำระหนี้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๓ จำเลยฎีกาว่าจำเลยผิดนัดชำระนี้โจทก์เพียง ๑๓ งวด แต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินทั้งหมดเงินส่วนที่เกินจึงเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดเป็นการไม่ชอบนั้น พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ ๑ ทำบันทึกข้อตกลงไปโดยถูกข่มขู่ จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นหนี้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แต่เพียงไม่ยอมรับผิดตามข้อสัญญาในเรื่องชำระหนี้แต่ละงวดโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินได้ทั้งหมดเมื่อมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะแต่งวดที่ผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิที่จะอ้างเงื่อนเวลาเป็นข้อต่อสู้ได้ เพราะจำเลยที่ ๒ ได้ให้การต่อสู้คดีโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากทำหนังสือค้ำประกันโดยสำคัญผิด เท่ากับสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเสียแล้ว
จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบให้จำเลยทั้งสองนำสืบก่อนเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่าได้ทำบันทึกข้อตกลงให้โจทก์ไว้จริง แต่ต่อสู้ว่าทำโดยถูกข่มขู่ ส่วนจำเลยที่ ๒ ก็ให้การรับว่าได้ทำหนังสือค้ำประกันไว้จริง แต่ต่อสู้ว่ากระทำโดยสำคัญผิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประกันตัวจำเลยที่ ๑ ฉะนั้นประเด็นที่ว่าจำเลยที่ ๑ ถูกข่มขู่หรือไม่ และจำเลยที่ ๒ สำคัญผิดหรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายนำสืบก่อนไม่ใช่ฝ่ายโจทก์ ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองนำสืบก่อนในประเด็นข้อนี้จึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานจำเลยที่ ๒ ก่อนพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยจำเลยที่ ๒ ได้อุทธรณ์เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลแล้ว เป็นประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลย เห็นว่า คำสั่งระหว่างพิจารณานั้นคู่ความต้องโต้แย้งคำสั่งไว้จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ จำเลยที่ ๒ มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ชอบแล้ว
พิพากษายืน.