คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4371/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ยื่นใบลาออกและผู้จัดการโรงงานลงลายมือชื่ออนุมัติแล้วนั้น ศาลแรงงานกลางมิได้ถือเอาตัวอย่างใบลาพยานเอกสารเป็นข้อวินิจฉัยในการรับฟัง ข้อเท็จจริงดังกล่าว หากแต่ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักคำเบิกความ ของพยานจำเลยกับคำเบิกความของตัวโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยหรือ กล่าวพาดพิงถึงพยานเอกสารดังกล่าว คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง หาได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา93 ไม่
ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการลาออกมิได้กำหนดตัวผู้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติใบลาออกไว้ชัดแจ้ง แต่ไม่อาจแปลจำกัดเพียงว่านอกจากกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนจำเลยผู้เดียวเท่านั้นแล้ว ผู้อื่นใดหามีอำนาจที่จะอนุมัติอีกไม่เป็นการแปลเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งอันไม่ต้องด้วยหลักการตีความ การตีความจักต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์เทียบเคียงถึงข้อสัญญาและข้อตกลงอื่นๆ ประกอบด้วย และต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้การเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยมีข้อความเป็นทำนองเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47(1) ถึง (6) เป็นการเลิกจ้างในทางวินัย เป็นการลงโทษในสถานที่หนักที่สุดที่นายจ้างพึงกระทำต่อลูกจ้างได้นั้น ให้อำนาจผู้จัดการโรงงานไว้ ส่วนการลาออกโดยความสมัครใจ ซึ่งโดยปกติย่อมไม่มีผลร้ายแก่ลูกจ้างไม่มีประโยชน์และความจำเป็นประการใดที่จำเลยจะสงวนอำนาจเช่นว่านี้ไว้เป็นอำนาจโดยเฉพาะสำหรับกรรมการผู้จัดการผู้เดียวเท่านั้น ผู้จัดการโรงงานจึงมีอำนาจอนุมัติได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมฟอกย้อมแห่งประเทศไทย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยวาจาโดยโจทก์ไม่มีความผิดและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นใบลาออกต่อผู้บังคับบัญชาเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยความสมัครใจ จำเลยอนุมัติให้ลาออกได้ในวันเดียวกัน แต่โจทก์ได้หลอกลวงและแย่งชิงต้นฉบับหนังสือลาออกดังกล่าว การเป็นกรรมการลูกจ้างของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นจากการแต่งตั้งย้อนหลัง เป็นการสร้างความคุ้มกันทางกฎหมายให้แก่โจทก์เพื่อกล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างเพื่อมาฟ้องคดีนี้ และขณะแต่งตั้งโจทก์ โจทก์ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการลูกจ้างแล้วเพราะโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างแล้วโดยการลาออกและได้รับอนุมัติแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์ยื่นใบลาออกและผู้จัดการโรงงานลงลายมือชื่ออนุมัติแล้วนั้น ศาลแรงงานกลางหาได้ถือเอาใบลาเอกสารหมาย ล.3 เป็นข้อวินิจฉัยในการรับฟังข้อเท็จจริงไม่หากแต่ศาลแรงงานกลางชั่งน้ำหนักคำเบิกความของพยานจำเลยเทียบเคียงกับคำเบิกความของตัวโจทก์ แล้วเห็นว่าพยานจำเลยมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้จัดการโรงงานลงลายมือชื่ออนุมัติใบลาออกของโจทก์แล้วจริงดังที่จำเลยนำสืบ ทั้งนี้ ศาลแรงงานมิได้วินิจฉัยใบลาออกเอกสารหมาย ล.3หรือกล่าวพาดพิงไปถึงเอกสารหมาย ล.3 ประการใดเลย คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหาได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ไม่
ระเบียบข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการลาออกมิได้กำหนดตัวผู้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติใบลาออกไว้ชัดแจ้ง แต่จะแปลจำกัดเคร่งครัดไปถึงขั้นที่ว่านอกจากกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนจำเลยผู้เดียวเท่านั้นแล้วผู้อื่นใดหามีอำนาจที่จะอนุมัติอีกไม่ เป็นการแปลเฉพาะข้อความตอนใดตอนหนึ่งอันไม่ต้องด้วยหลักการตีความ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ระเบียบข้อบังคับฯ การตีความจักต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์เทียบเคียงถึงข้อสัญญาหรือข้อตกลงอื่น ๆ ประกอบด้วย และต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ การเลิกจ้างตามระเบียบข้อบังคับฯ ดังกล่าว มีความเป็นทำนองเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)ถึง (6) เป็นการเลิกจ้างในทางวินัย เป็นการลงโทษในสถานที่หนักที่สุดที่นายจ้างจะพึงกระทำต่อลูกจ้างได้ เมื่อผู้จัดการโรงงานมีอำนาจในสถานที่หนักได้ การอนุมัติการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างซึ่งเป็นการอนุมัติตามความประสงค์ของลูกจ้างโดยปกติย่อมไม่มีผลร้ายแก่ลูกจ้าง ผู้จัดการโรงงานจึงมีอำนาจอนุมัติ เพราะย่อมไม่มีประโยชน์และความจำเป็นที่จำเลยจะสงวนอำนาจเช่นว่านี้เป็นอำนาจโดยเฉพาะสำหรับกรรมการผู้จัดการผู้เดียวเท่านั้น การตีความโดยเทียบเคียงกับข้อบังคับอื่นเป็นการตีความระเบียบข้อบังคับฯ ให้ใช้การได้ในทางปฏิบัติ เหมาะสมที่จะปฏิบัติและเป็นไปได้ในสภาพที่แท้จริง ชอบด้วยหลักการตีความแล้ว
พิพากษายืน

Share