แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ผิดพลาด กรณีเป็นเรื่องชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 นั้น จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า กรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า “เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน 50 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ยังคงมีความผิดและต้องโทษจำคุกในความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าว มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียว
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติให้ความหมายคำว่า กำหนดโทษ ทำนองเดียวกันว่า “กำหนดโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือ กำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกำหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น” โทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด ดังนี้ ในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 เพียงใดจึงต้องพิจารณาตามกำหนดโทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละกระทง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ, 116 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 สำหรับจำเลยที่ 2 วางโทษโดยอาศัยพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 12 และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีก 1 กระทง ส่วนจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 55, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่ง ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต รวม 3 กระทง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม ประกอบมาตรา 138 วรรคสอง, 289 (2), 80 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 289 (2), 80 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีก 1 กระทง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 50 ปี ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และอีก 20 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และอีก 57 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 35 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจบวกโทษอื่นอีกได้และไม่อาจนำโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีอื่นมาบวกรวมเข้าได้อีก คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และริบอาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนของกลาง คดีถึงที่สุดวันที่ 17 ธันวาคม 2544
จำเลยที่ 2 ฟ้องคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2549 คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 สำหรับเรือนจำกลางบางขวาง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อศาลปกครองกลางว่า คำนวณวันต้องโทษให้จำเลยที่ 2 หลังจากได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้วเหลือกำหนดโทษจำคุก 36 ปี 5 เดือน 15 วัน เป็นการผิดพลาด ที่ถูกคงเหลือกำหนดโทษจำคุก 21 ปี 4 เดือน ขอให้เปลี่ยนวันต้องโทษให้ถูกต้อง
คณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2549 คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 สำหรับเรือนจำกลางบางขวาง คณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 สำหรับเรือนจำกลางบางขวาง และคณะกรรมการตรวจสอบพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 สำหรับเรือนจำกลางบางขวาง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การว่า กรณีของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระและศาลพิพากษาเรียงกระทงลงโทษแต่ละกระทงความผิด การพิจารณาให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษจึงต้องแยกเป็นรายกระทงความผิด เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 แล้วคงเหลือกำหนดโทษจำคุก 50 ปี กำหนดโทษจำคุก 41 ปี 8 เดือน และกำหนดโทษจำคุก 36 ปี 5 เดือน 15 วัน ตามลำดับ ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่คำนวณโทษชอบแล้ว และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำร้องว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การคำนวณวันต้องโทษของจำเลยที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2550 เป็นไปตามมติของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาการปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2549 มิได้คำนวณวันต้องโทษผิดพลาด ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านที่ 1 แก้ฎีกาว่า คดีนี้ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ผิดพลาด กรณี เป็นเรื่องชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ผิดพลาดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกแล้วจึงไม่อาจบวกโทษจำคุก 57 ปี ตามกระทงอื่นได้อีก โทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับจึงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า กรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า “เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต” นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน 50 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ยังคงมีความผิดและต้องโทษจำคุกในความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าว มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติให้ความหมายคำว่า กำหนดโทษ ทำนองเดียวกันว่า “กำหนดโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือกำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกำหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น” และโทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด ดังนี้ ในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 เพียงใด จึงต้องพิจารณาตามกำหนดโทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละกระทง การที่ผู้คัดค้านทั้งสี่มีมติเกี่ยวกับการได้รับพระราชทานอภัยโทษของจำเลยที่ 2 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ดังรายละเอียดที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน