คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับโอนประทานบัตรจากบริษัทซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีให้ทำเหมืองแร่ดีบุกโดยวิธีเหมืองเรือขุดบริเวณป่าชายเลนที่เกิดเหตุเนื้อที่591 ไร่เศษ แต่ต่อมาราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำทำให้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน จำเลยจึงขออนุญาตหยุดการทำเหมืองแร่เป็นรายปี ระหว่างการหยุดทำเหมืองจำเลยทำบ่อเลี้ยงกุ้งในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรรวม 11 บ่อ เนื้อที่ 100 ไร่เศษ การที่ทรัพยากรธรณีจังหวัดที่เกิดเหตุมีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้พื้นที่ประทานบัตรเพื่อเลี้ยงกุ้ง และให้ถมหรือทำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปในสภาพเดิมภายใน 10 วันและจำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม แต่พื้นที่ที่จำเลยใช้เลี้ยงกุ้งในเขตประทานบัตรดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมืองได้จริง และการเลี้ยงกุ้งหรือทำนากุ้งของจำเลยในพื้นที่ประทานบัตรที่เกิดเหตุเป็นการกระทำเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73(3) แต่ตามบทกฎหมายดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทำในเชิงพาณิชย์ไว้ทั้งมิได้กำหนดไว้ว่าพื้นที่ดังกล่าวให้ทำเพื่อเกษตรกรรมได้เพียงบางส่วน ดังนั้นจึงเป็นสิทธิที่จำเลยจะใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อการเกษตรกรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม คำสั่งของทรัพยากรธรณีจังหวัดที่ให้จำเลยระงับใช้พื้นที่ประทานบัตรทำนากุ้ง และให้ทำที่ดิน ให้เหมือนสภาพเดิมภายใน 90 วัน จึงเป็นการมิชอบแม้จำเลยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแก่ พ.ศ. 2510มาตรา 4, 15, 72, 73, 139 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการทำที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมจำนวน817,555.37 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อพ.ศ. 2522 จำเลยรับโอนประทานบัตรเลขที่ 12484/12399และ 12485/12401 จากบริษัทสตูปูโล โนไลเอบิลิตี จำกัดซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรธรณีให้ทำเหมืองแร่ดีบุกโดยวิธีเหมืองเรือขุดบริเวณป่าชายเลน ตำบลบางเตยอำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2522ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 เนื้อที่ 591 ไร่เศษ ต่อมาราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำทำให้ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนจำเลยจึงขออนุญาตหยุดการทำเหมืองแร่เป็นรายปี ระหว่างการหยุดทำเหมืองจำเลยทำบ่อเลี้ยงกุ้งในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตประทานบัตรรวม11 บ่อ เนื้อที่ 100 ไร่เศษ วันที่ 4 มกราคม 2538 นายพูนศักดิ์ทรัพยากรธรณีจังหวัดพังงามีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้พื้นที่ประทานบัตรเพื่อเลี้ยงกุ้ง และให้ถมหรือทำที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการทำเหมืองแร่ให้เป็นไปในสภาพเดิมภายใน 90 วันแต่จำเลยเพิกเฉย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยต่อสู้คดีว่าพื้นที่ตามประทานบัตรมีแหล่งแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมือง จำเลยจึงมีสิทธิใช้พื้นที่ดังกล่าวเลี้ยงกุ้งอันเป็นเกษตรกรรมในระหว่างอายุประทานบัตรได้ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73(3)ซึ่งในปัญหาที่ว่าพื้นที่จำเลยใช้เลี้ยงกุ้งในเขตประทานบัตรเป็นพื้นที่ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมืองหรือไม่นั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพื้นที่ที่จำเลยใช้เลี้ยงกุ้งในเขตประทานบัตรเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมืองได้ ส่วนปัญหาว่าการทำนากุ้งหรือเลี้ยงกุ้งของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อเกษตรกรรมหรือไม่นั้นตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คำว่าเกษตรกรรมหมายถึงการใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์การประมง และการป่าไม้ ดังนั้น การเลี้ยงกุ้งหรือทำนากุ้งของจำเลยในพื้นที่ประทานบัตรที่เกิดเหตุจึงเป็นการกระทำเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 73(3)สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า การทำเพื่อเกษตรกรรมดังกล่าวต้องไม่ทำในเชิงพาณิชย์นั้น เห็นว่าตามบทกฎหมายดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามไว้เช่นนั้น ทั้งมิได้กำหนดไว้ว่าพื้นที่ดังกล่าวให้ทำเพื่อเกษตรกรรมได้เพียงบางส่วนแต่อย่างใดเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยถือประทานบัตรเนื้อที่591 ไร่เศษ แต่ใช้ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง 11 บ่อ เนื้อที่เพียง100 ไร่เศษ ทั้งเป็นพื้นที่ที่มีแร่ไม่สมบูรณ์พอที่จะเปิดการทำเหมืองได้ก็เป็นสิทธิที่จำเลยจะใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อการเกษตรกรรมได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ก็ตาม คำสั่งของทรัพยากรธรณีจังหวัดพังงาที่ให้จำเลยระงับใช้พื้นที่ประทานบัตรทำนากุ้ง และให้ทำที่ดินให้เหมือนสภาพเดิมภายใน 90 วัน นั้น จึงมิชอบ จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share