คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5180/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 118 วรรคสาม จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย
กฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบการตีความเจตนาไม่ได้
สัญญาจ้างแรงงานฉบับพิพาท กำหนดให้โจทก์และจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 2 เดือน สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญา จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่ควบคุมการวางระบบเดินรถไฟฟ้า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ162,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือนต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 จำเลยแจ้งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 31 ตุลาคม 2541 โจทก์มิได้กระทำผิดและทำงานกับจำเลยมาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 486,000 บาท และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 972,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายจำนวน 972,000 บาท แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้จัดการโครงการออกแบบงานก่อสร้าง โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดวันเริ่มต้นของสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป โจทก์ย่อมทราบดีว่าสัญญาจ้างจะต้องสิ้นสุดไม่เกิน 2 ปี ในช่วงระหว่างอายุของสัญญาดังกล่าวจำเลยได้แจ้งว่างานตามที่โจทก์รับผิดชอบจะแล้วเสร็จและแจ้งกำหนดเวลาเลิกสัญญาให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 31 ตุลาคม 2541 โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้จัดการในโครงการอันมิใช่เป็นงานปกติหรือธุรกิจของจำเลย ซึ่งมีกำหนดเวลาไว้แน่นอน และได้บอกเลิกสัญญาภายในกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานตำแหน่งที่ปรึกษาผู้จัดการโครงการและออกแบบได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 162,000 บาท ได้ทำหนังสือสัญญาจ้างไว้ตาม เอกสารหมาย จล.1 กำหนดวันเริ่มต้นของการจ้างงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาวันที่ 28กรกฎาคม 2541 จำเลยแจ้งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 31 ตุลาคม2541 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาจ้างจำเลยมีสิทธิจะเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้ เวลาที่กำหนด 2 ปี จึงไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118วรรคสาม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่าสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่จะต้องดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยจำเลยจ้างโจทก์ทำงานซึ่งเป็นงานครั้งคราวชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น งานในส่วนที่โจทก์รับผิดชอบดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 5 ปี ใกล้แล้วเสร็จโจทก์และจำเลยมีเจตนาว่าถ้างานเสร็จโจทก์และจำเลยสามารถบอกเลิกสัญญาได้ โดยบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือนดังนั้น การกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาที่แน่นอนในภายหลังอันเกิดจากสัญญาหรือข้อตกลงและเปลี่ยนแปลงเวลาที่กำหนดสัญญาย่อมกระทำได้เพราะเป็นเจตนาของคู่สัญญา ถือได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสาม จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ประกอบกับกฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยไม่ได้เมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จล.1 ข้อ 9 กำหนดให้โจทก์และจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 2 เดือน สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญา จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายดังกล่าว

พิพากษายืน

Share