คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะแสดงเจตนาชำระค่าทดแทนที่ดินที่เวนคืนให้แก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับโดยจะเอาให้มากกว่านั้นจำเลยก็หาได้นำเงินตามที่จำเลยเสนอไปวางต่อศาลตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินที่วางไม่ทั้งการที่โจทก์ไม่ยอมรับราคาที่เสนอก็เพราะเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ซึ่งถือไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินตกเป็นผู้ผิดนัด ดังนั้น แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยถึงที่สุดว่า จำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยเสนอให้โจทก์เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี พ.ศ. 2521 จำเลยได้สร้างทางหลวงทับที่ดินของโจทก์ 2 แปลงรวมเนื้อที่ 2 ไร่ 10 ตารางวา จำเลยได้กำหนดจะชดใช้ราคาที่ดินให้โจทก์ไร่ละ 190,000 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่สามารถรับราคาที่ดินที่จำเลยกำหนดและเรียกร้องค่าที่ดินจากจำเลยเพียงไร่ละ 400,000 บาท แต่จำเลยยืนยันจะให้ไร่ละ190,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในจำนวนเงินค่าที่ดินที่สร้างทางหลวง 2 ไร่ 10 ตารางวา ราคาไร่ละ 400,000 บาทเป็นเงิน 810,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 อันเป็นวันที่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 810,000 บาทกับดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 351,185 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับต่อจากวันฟ้องในต้นเงิน 810,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยได้พิจารณาค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้วโจทก์ไม่ยอมรับเงินค่าทดแทนจากจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องรับผิดและไม่ต้องชดใช้ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 384,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2521 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับและมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยจะสร้างทางหลวงสายสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จึงตกลงกับเจ้าของที่ดินที่ถูกเส้นทางดังกล่าวผ่านมา จำเลยจะกำหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินตามราคาที่เป็นจริงและเป็นธรรมเส้นทางสายนี้ได้ผ่านที่ดินของโจทก์คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 10ตารางวา ต่อมาจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์และเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้นในราคาไร่ละ 40,000 บาท เจ้าของที่ดินอื่นต่างยินยอมคงมีแต่โจทก์รายเดียวที่จะขอคิดราคาไร่ละ 400,000 บาท จำเลยจึงได้พิจารณากำหนดราคาให้โจทก์ใหม่เป็นไร่ละ 190,000 บาท แต่โจทก์คงยืนยันในราคาเดิมจึงตกลงกันไม่ได้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ไร่ละ 190,000 บาท รวมเป็นเงิน 384,750 บาท นั้น เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาในเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์จึงเป็นอันยุติ คงมีข้อที่ต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยของเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะแสดงเจตนาชำระค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาไร่ละ 190,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 384,750บาทแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ตกลงยอมรับโดยจะเอาให้มากกว่านั้นจำเลยก็หาได้นำเงินตามที่จำเลยเสนอจำนวน 384,750 บาทไปวางต่อศาลตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินที่วางไม่ แม้ต่อมาปัญหาเรื่องจำนวนเงินค่าทดแทนจะถึงที่สุดโดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าทดแทนที่จำเลยเสนอให้โจทก์เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้วก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าทดแทนดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยสร้างทางหลวงผ่านที่ดินของโจทก์ โดยให้จำเลยชดใช้ราคาที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาที่เป็นธรรมและเป็นจริงตามราคาท้องตลาด เมื่อจำเลยกำหนดราคาที่ดินให้โจทก์ไร่ละ 190,000 บาท ตามหลักการที่ตกลงกันไว้ดังกล่าวโจทก์กลับไม่ยอมรับ ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาว่าราคาที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้วเช่นนี้ จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะยอมให้จำเลยทำถนนผ่านที่ดินของโจทก์และตกลงให้จำเลยกำหนดค่าทดแทนราคาที่ดินตามราคาที่เป็นธรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกำหนดราคาให้ไร่ละ 190,000 บาท โจทก์ไม่ตกลงโดยเห็นว่าราคาที่จำเลยกำหนดให้ยังไม่เป็นธรรมเช่นนี้ค่าทดแทนที่ดินอันเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์จึงยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ว่าควรจะเป็นจำนวนเท่าใดการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ค่าทดแทนที่ดินจากจำเลยในราคาที่จำเลยเสนอจึงมีมูลเหตุที่โจทก์จะอ้างได้ตามกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นเมื่อค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ได้กำหนดแน่นอนและถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยก็หาได้นำเงินดังกล่าวไปวางต่อศาลเพื่อให้โจทก์รับไปแต่อย่างใดไม่ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share