แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4 นิยามคำว่า ‘ขาย’ ไว้ว่าหมายความรวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการค้าหรือมีไว้เพื่อขาย ดังนั้นการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบังอาจขายยาปลอมโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ายาดังกล่าวเป็นพร้อมกับระบุชื่อผู็ผลิตและเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงไว้ว่าไม่เป็นความจริง เช่นนี้ ฟ้องของโจทก์พอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 หาจำต้องระบุว่าจำเลยขายยาปลอมให้แก่ใคร เมื่อใด จำนวนเท่าใด เลขตำรับยานั้นความจริงเป็นยาอะไรไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จำเลยจะโต้เถึยงในชั้นฎีกาว่าจำเลยกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษก็เป็นฏีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจขายยาปลอมโดยมียาเตตราซัยคลินไฮโดรคลอไรด์แคปซูล จำนวน 6 กระป๋อง จำนวน 5,535 แคปซูล ซึ่งเป็นยาที่แสดงชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มโคฟาร์มาซูติคอล เป็นผู้ผลิตและเป็นยาตามตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้เลขที่ 1156/2528ซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นยาปลอมไว้เพื่อขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72, 73, 119, 126 พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3 พ.ศ.ก 2522 มาตรา 20 กับริบยาปลอมของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 72, 73, 119, 126, พระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ลงโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาข้อ 2 (ก) ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์คงกล่าวในฟ้องเพียงว่า จำเลยบังอาจขายยาปลอมเท่านั้นจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า ‘ขาย’ ไว้ว่า หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจกหรือแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในการค้าและมีไว้เพื่อขาย ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบังอาจขายยาปลอมโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่ายาดังกล่าวเป็นยาปลอมฟ้องของโจทก์จึงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วหาจำต้องระบุว่าจำเลยขายยาปลอมให้แก่ใคร เมื่อใด จำนวนเท่าใดดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บรรยายว่า ยาปลอมที่จำเลยขายคือยาอะไรและยาที่ขายเป็นยาปลอมเพราะเหตุใด เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ครบถ้วนแล้ว ที่จำเลยฎีกาอีกว่า ฟ้องโจทก์เพียงแต่อ้างว่ายาของกลางที่แสดงชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ผลิต และเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าเลขทะเบียนตำรับยาดังกล่าวความจริงเป็นยาอะไร หรือไม่มีตำรับยาที่ขึ้นทะเบียนไว้เลย เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขายยาปลอมพร้อมกับระบุชื่อผู้ผลิตและเลขทะเบียนตำรับยาที่แสดงไว้ก็ไม่เป็นความจริง อันมีความหมายอยู่ในคัวว่ายาที่จำเลยขายนั้นเป็นยาปลอมนั่นเองจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบรรยายว่าเลขตำรับยานั้นความจริงเป็นยาอะไร ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้วฎีกาของจำเลยในข้อหานี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกามาในข้อ 2(ข) ว่า ศาลควรลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 119 วรรคสอง เพราะจำเลยกระทำไปโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยบังอาจขายยาปลอม และได้กระทำโดยรู้ว่าเป็นยาปลอม ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพ ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าว จำเลยจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่รู้ว่าเป็นยาปลอมหาได้ไม่เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้ถอนคำให้การรับสารภาพไปแล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวในสำนวนดังที่จำเลยฎีกา และที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีการอการลงโทษนั้น ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 119 โดยไม่ระบุวรรคนั้นเห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาพ.ศ. 2510 มาตรา 119 วรรคแรก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’.