แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนฎีกาข้อ 2 แม้เป็นข้อกฎหมายแต่ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับฎีกา
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยในประเด็นที่ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จริงหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมิได้ วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวและยอมให้โจทก์นำสืบแก้ไข ตัดทอน เปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้เงินหมาย จ.1 จึงเป็นการฝ่าฝืน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคดีนี้โดยตรง และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังว่าจำเลยได้กู้เงินจากโจทก์ เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แต่ก็หาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายให้ชี้ชัดไปว่า การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์นำสืบแก้ไข ตัดทอน เปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้เงิน ข้อ 2 (หมาย จ.1) นั้น เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เท่ากับยอมให้ โจทก์นำสืบแก้ไข ตัดทอน เปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้ ข้อ 2 หมาย จ.1 คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยในข้อ 2 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,000 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 128)
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 142)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นยอมให้โจทก์ เบิกความว่าโจทก์ได้รับสำเนา น.ส.3 เป็นการนำสืบแปลข้อความ ในสัญญากู้ข้อ 2 หมาย จ.1 ซึ่งระบุชัดแจ้งว่า โจทก์ได้รับต้นฉบับ น.ส.3ของจำเลยไว้เป็น ประกัน เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่าแม้ฎีกาจำเลยจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง