แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า การที่จำเลยรับเงินจำนวน 14,840 บาทไปจากโจทก์โดยที่โจทก์ได้จ่ายไปโดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่ครั้นเมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าเป็นเงินประเภทอื่นไม่ใช่ค่าชดเชย โจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานเท่านั้น เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 14,840 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคำบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินกองทุนสงเคราะห์ เนื่องจากจำเลยได้รับเงินที่โจทก์จ่ายให้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบซึ่งเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 มิใช่เรื่องโจทก์เรียกทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับเงินจำนวน 14,840 บาทไปจากโจทก์โดยที่โจทก์จ่ายไปโดยสำคัญผิดว่า เป็นการจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย แต่เมื่อศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นเงินประเภทอื่นไม่ใช่ค่าชดเชยโจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานเท่านั้น เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบโจทก์จึงมีสิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์ดังกล่าวคืนได้ จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 14,840 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 14,840 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้จ่ายเงินตามข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ พ.ศ. 2523 เพิ่มให้แก่จำเลยอีก 14,840 บาท เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2527 เพื่อให้จำเลยได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าชดเชยที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องชอบด้วยข้อบังคับและกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกคืนจากจำเลยอีก จำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2527 โดยสุจริตเป็นเวลา 5 ปีเศษ และจำเลยได้จ่ายเงินนั้นไปเป็นค่าครองชีพอันสมควรแก่ฐานะหมดสิ้นไปแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ที่รับเงินลาภมิควรได้โดยสุจริตปรากฏว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนาย 2527 เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระคืนเป็นเวลาเกือบ 5 ปี น่าเชื่อว่าจำเลยได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวไปหมดแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินกองทุนสงเคราะห์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เพราะจำเลยได้รับเงินกองทุนสงเคราะห์จากโจทก์เกินไป 14,840 บาท โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้จึงเป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน และพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องข้อ 4 ของโจทก์ได้บรรยายไว้เป็นใจความว่า การที่จำเลยรับเงินจำนวน 14,840 บาท ไปจากโจทก์โดยที่โจทก์ได้จ่ายไปโดยสำคัญผิดคิดว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แต่ครั้นเมื่อศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่าเป็นเงินประเภทอื่นไม่ใช่ค่าชดเชย โจทก์จึงชอบที่จะจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานเท่านั้น เป็นเรื่องที่จำเลยได้รับเงินไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 14,840 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จะเห็นได้โดยแจ้งชัดว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินกองทุนสงเคราะห์เนื่องจากจำเลยได้รับเงินที่โจทก์จ่ายให้ไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ซึ่งเป็นเรื่องลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 นั่นเอง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เรียกทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าวจึงตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนและคำฟ้องของโจทก์แล้วอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นการได้รับชำระหนี้โดยไม่สุจริต เพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวน 14,840 บาท จากโจทก์ นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังยุติแล้วว่า จำเลยรับเงินไว้โดยสุจริตเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยจะต้องคืนเงินแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน.