แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ภารจำยอมเป็นทรัพยสิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล แม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนมาตรา 1299 ที่บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น จำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์แล้วสร้างกำแพงปิดล้อมที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ใช้รถยนต์วิ่งเข้าออกที่ดินของโจทก์ กรณีจึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภารจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและเจ้าของที่ดินอื่นในซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์ได้ใช้ประโยชน์สัญจรไปมาในซอยดังกล่าวตามที่ดินโฉนดที่ 9772 และ 9050 มาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จึงเป็นภาระจำยอม ต่อมาจำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050ซึ่งอยู่ติดกันกับที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ 8798และรวมเป็นโฉนดเดียวกันเป็นโฉนดที่ 8798 แล้วจำเลยขุดหลุมหล่อเสาคอนกรีตรุกล้ำลงบนซอยโรงพิมพ์พงษ์วรุตม์เพื่อล้อมเอาที่ดินตามโฉนดที่ 9050 ทางด้านทิศใต้ยาวประมาณ 1 เมตร ทิศตะวันออกยาวประมาณ 48.20 เมตร และด้านทิศเหนือยาวประมาณ 1.25 เมตรทำให้ทางภาระจำยอมแคบลงไปเหลือความกว้างเพียง 3 เมตรทำให้ไม่สะดวกในการใช้ทางภาระจำยอม จึงขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในทางภาระจำยอม และห้ามขัดขวางการใช้ทรัพย์สิทธิภาระจำยอมของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินตามโฉนดที่ 9789 และ 9050 มาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มาโดยสุจริต ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299, 1300 ไม่มีการจดแจ้งไว้ในโฉนดว่ามีภาระจำยอมแม้จะเคยใช้ทางพิพาทมาก็ยังใช้มาไม่ถึง 10 ปี เมื่อจำเลยก่อกำแพงทางเดินนอกกำแพงยังมีความกว้าง 3 เมตรเศษ พอที่รถยนต์โดยสารและรถยนต์บรรทุกของโจทก์เข้าออกได้โดยสะดวกขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่สร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทโฉนดที่ 8789 (เฉพาะส่วนโฉนดเดิมที่ 9050) ส่วนที่มีพื้นสีแดงตามแผนผังเอกสารหมาย จ.2 โดยให้รื้อตามแนวด้านทิศตะวันออกของเสาไฟฟ้าต้นที่ 1, 2, 3 และ 4 ของรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.13ออกไป และทำที่ดินให้อยู่ในสภาพดีเหมือนเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสามดำเนินการจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวในลักษณะขัดขวางการใช้ทรัพยสิทธิภาระจำยอมของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รื้อส่วนที่รุกล้ำที่ดินพิพาทเฉพาะภายในวงเส้นสีแดงตามแผนที่เอกสารหมาย จ.13 และให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ว่าหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์จ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการแทนโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยเสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ 9050ฉบับเดิมเป็นทางภาระจำยอม การที่จำเลยสร้างกำแพงปิดล้อมที่ดินพิพาททำให้รถยนต์ของฝ่ายโจทก์แล่นเข้าออกไม่สะดวก แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดที่ 9050 ฉบับเดิมโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนกับจดทะเบียนได้กรรมสิทธิ์ย่อมได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 และ 1300 โจทก์เป็นบุคคลภายนอก อ้างสิทธิการได้มาโดยภาระจำยอมมิได้จดทะเบียน ห้ามมิให้ยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยนั้นเห็นว่า ภาระจำยอมจะสิ้นไปก็ต่อเมื่อภารยทรัพย์สลายไปทั้งหมดหรือมิได้ใช้สิบปีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1397 หรือมาตรา 1399 และภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิประเภทที่จำกัดตัดทอนกรรมสิทธิ์ เป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอยู่กับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภารยทรัพย์ เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่นอันเป็นสามยทรัพย์ ไม่ใช่ทรัพยสิทธิส่วนตัวบุคคล ดังนั้น แม้เจ้าของภารยทรัพย์จะเปลี่ยนตัวไปก็หาเป็นข้อสำคัญไม่ ส่วนมาตรา 1299ที่บัญญัติว่า “สิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว” นั้น หมายความถึงแต่กรณีที่บุคคลได้มาโดยสุจริตซึ่งทรัพยสิทธิอันเดียวกันกับทรัพยสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนั้น กรณีตามที่จำเลยอ้างเป็นการได้สิทธิประเภทกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์ จึงมิใช่การโต้เถียงกันในเรื่องการได้สิทธิในทรัพยสิทธิอันเดียวกัน จำเลยจะยกการรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริตขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทต้องสิ้นไปหาได้ไม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.