แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันในเรื่องภาษีโรงเรือนในคดีนี้นั้นเป็นของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังแจ้งรายการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529 และพ.ศ. 2530 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้มายังโจทก์โดยตรงในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือน ทั้งโจทก์ก็ไปชำระภาษีประจำปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530 ตามจำนวนที่ได้รับประเมินในนามของโจทก์เอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1ก็ยอมรับชำระภาษีดังกล่าวไว้เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือน เมื่อโจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีเกินไปโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไปนั้นคืนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ในการประเมินค่ารายปีอาคารพิพาทในปี พ.ศ. 2529เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2526 กับปี พ.ศ. 2528 นั้น เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 พบว่า อาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่มิได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง การกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นแต่ละรายการก็มิได้ให้เหตุผล ส่วนที่อ้างว่าการกำหนดค่ารายปีของอาคารพิพาทต่ำไปเมื่อเปรียบเทียบกับ โรงเรือนหลังอื่นซึ่งมีสภาพเดียวกันและอยู่ในละแวกเดียวกัน ก็ปรากฏว่าโรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ในถนนซอยและสถานที่ ที่มีความเจริญน้อยกว่า ยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ ยิ่งกว่านั้น ค่ารายปีที่ประเมินเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2529ก็สูงกว่าในปี พ.ศ. 2528 ถึงกว่าหนึ่งเท่าตัว ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาห่างกันเพียง 1 ปี โดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุผลสมควรอย่างไร จึงขึ้นค่ารายปีมากเช่นนั้นแต่พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18บัญญัติให้ถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏเหตุผลตามที่จำเลยนำสืบว่าโรงเรือนพิพาทควรมีค่ารายปีสูงขึ้นเพียงใด ในการคำนวณค่ารายปีของปีพ.ศ. 2529 จำเลยจึงต้องถือค่ารายปีในปี พ.ศ. 2528 เป็นหลัก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือน สำหรับปี พ.ศ. 2528 (หรือปีชำระภาษีพ.ศ. 2529) เป็นเงิน 216,870 บาท และ 214,293.75 บาท ตามลำดับ กับให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือน สำหรับปี พ.ศ. 2529 (หรือปีชำระภาษี พ.ศ. 2530) เป็นเงิน 216,870 บาทและ 214,293.75 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าภาษีโรงเรือนทะเบียนเลขที่ 170/15 ซอยนาคสุวรรณถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครสำหรับปี พ.ศ. 2528 (หรือปีชำระภาษี พ.ศ. 2529) เป็นจำนวน58,434.40 บาท แล้วคืนส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินเป็นเงิน 158,435.60บาท กับให้จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าภาษีโรงเรือนทะเบียนเลขที่ 170/15 ซอยนาคสุวรรณ ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร สำหรับปี พ.ศ. 2529 (หรือปีชำระภาษี พ.ศ. 2530) เป็นจำนวน 34,067.25 บาท แล้วคืนส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินเป็นเงิน 182,802.75 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ผู้พึงชำระค่าภาษีในโรงเรือนพิพาท เลขที่ 170/15 ซอยนาคสุวรรณถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครความจริงแล้วโรงเรือนรายพิพาทดังกล่าวในคดีนี้เป็นของผู้อื่นโดยโจทก์เป็นผู้รับมอบฉันทะให้ยื่นเสียภาษีในโรงเรือนดังกล่าวแทนเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้รับประเมินอันเป็นบุคคลผู้พึงชำระภาษีแต่อย่างใด เจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนพิพาทคดีนี้ไม่เคยโต้แย้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนไม่ชอบแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์ ในฐานะส่วนตัวแต่ประการใด เพราะในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ 2 แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มิได้กระทำการใดในฐานะส่วนตัวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ทั้งในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ต้องรับผิดคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ฟ้องเพราะเป็นแต่เพียงผู้พิจารณาการประเมินใหม่เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประจำปีพ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530 เล่มที่ 123 เลขที่ 2 และเล่มที่ 29เลขที่ 17 ตามลำดับ และใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 7เลขที่ 64 ลงวันที่ 24 (ที่ถูกคือ 25) กุมภาพันธ์ 2531 เสียกับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 245,545.50 บาท แก่โจทก์คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบมารับกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่7 พฤษภาคม 2529 และวันที่ 6 มีนาคม 2530 โจทก์ได้รับการแจ้งรายการประเมินจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530ตามลำดับปีละ 216,870 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12โจทก์ได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.13และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.14 และ จ.15ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดให้ลดค่าภาษีให้บางส่วนคงให้โจทก์เสียปีละ 214,293.75 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นายชัย ทองไทย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินพิพาท โจทก์เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้ยื่นเสียภาษีแทนนายชัย การที่โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนสำหรับปี พ.ศ. 2526 ถึงปี พ.ศ. 2530 เป็นการกระทำแทนนายชัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น นายชัย ทองไทยเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันในเรื่องภาษีโรงเรือนในคดีนี้นั้นเป็นของโจทก์ พยานเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังแจ้งรายการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้มายังโจทก์โดยตรงในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนตามใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 ทั้งโจทก์ก็ไปชำระภาษีประจำปี พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530ตามจำนวนที่ได้รับประเมินในนามของโจทก์เอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระภาษีดังกล่าวไว้ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.13 และ จ.14 เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือน เมื่อโจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไปนั้นคืนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ปรากฏจากคำเบิกความนายฐิติ เชื้อสวัสดิ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้ทำการประเมินภาษีโรงเรือนรายนี้ว่าในปี พ.ศ. 2529 ก่อนที่พยานจะได้กำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินค่าภาษีนั้นพยานได้ไปตรวจอาคารพิพาทพบว่าอาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น พยานจึงประเมินค่ารายปีในปี พ.ศ. 2529เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2526 ถึงปี พ.ศ. 2528 แต่พยานมิได้อธิบายว่าอาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง การกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นแต่ละรายการนั้นพยานก็มิได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนแต่ประการใด เช่นพยานเบิกความว่ารายการที่ 1 ถึง 3 เป็นโกดังตึกชั้นเดียว 3 หลัง ในปี พ.ศ. 2526 ถึงปี พ.ศ. 2528 ตัวชั้นลอยของอาคารไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงไม่ได้กำหนดค่ารายปีสำหรับชั้นลอยโดยคิดค่ารายปีตารางเมตรละ 8 บาทต่อเดือน ส่วนปี พ.ศ. 2529 นั้นพยานประเมินค่ารายปีสำหรับโกดังตารางเมตรละ 15 บาทต่อเดือนส่วนชั้นลอยตารางเมตรละ 10 บาท ต่อเดือน ฯลฯ พยานปากนี้อ้างว่าที่พยานกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทเพิ่มขึ้นนั้นเพราะพยานเห็นว่า การกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทนั้นต่ำไปเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรือนหลังอื่นซึ่งมีสภาพเดียวกันและอยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น อาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัดของบริษัทอาร์มสตรอง จำกัด ของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์จำกัด ฯลฯ อย่างไรก็ตาม พยานมิได้อธิบายว่า อาคารที่นำมาเปรียบเทียบเหล่านี้มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับโรงเรือนของโจทก์อย่างไร และอยู่ห่างกันเพียงไร ศาลฎีกาได้ตรวจดูหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.27 ถึง ล.34 แล้ว ปรากฏว่าอาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนสีลมใกล้ห้างเซ็นทรัลเขตบางรัก ขณะที่โรงเรือนพิพาทอยู่ที่ซอยนาคสุวรรณถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา สำหรับอาคารของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์ จำกัด นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.35ถึง ล.40 ว่าอยู่ที่ถนนนางลิ้นจี่ เห็นได้ว่าโรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ในถนนซอยและสถานที่ซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าอาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัด และของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์ จำกัดยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ได้ความว่าในปี พ.ศ. 2528 นั้น จำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทไว้752,778 บาท ต้องเสียภาษีโรงเรือน 94,097.25 บาท แต่ในปีพ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2530 จำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทไว้ถึงปีละ 1,734,960 บาท และให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนปีละถึง 216,870 บาท ซึ่งโจทก์ได้เสียภาษีโรงเรือนจำนวนนี้ไปแล้ว เห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2529 นั้น จำเลยประเมินค่ารายปีและให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนสำหรับโรงเรือนพิพาทสูงกว่าในปี พ.ศ. 2528 ถึงกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาห่างกันเพียง 1 ปี และโดยจำเลยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีเหตุสมควรอย่างไรจึงขึ้นค่ารายปีและภาษีมากเช่นนั้นสำหรับเหตุผลตามกฎหมายนั้นจำเลยก็ไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้เช่นเดียวกัน เพราะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 18 บัญญัติให้ถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้นในการคำนวณค่ารายปีของปี พ.ศ. 2529 จำเลยต้องถือค่ารายปีในปี พ.ศ. 2528 เป็นหลัก เมื่อไม่ปรากฏเหตุผลตามที่จำเลยนำสืบว่า โรงเรือนพิพาทควรมีค่ารายปีสูงขึ้นเพียงใด การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนสำหรับปี พ.ศ. 2529และ พ.ศ. 2530 เท่ากับปี พ.ศ. 2528 โดยกำหนดค่ารายปีเท่ากันนั้นจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน