แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินเดือนมีลักษณะเป็นเงินค่าจ้างทำงานนั่นเอง แต่มีลักษณะจ่ายเป็นรายเดือนจึงเรียกว่าเงินเดือน
กำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) กับมาตรา 166 มีความสำคัญอยู่ที่ว่า เงินค่าจ้างนั้น มีกำหนดจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลาหรือไม่ หากจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลา ก็เข้ามาตรา 166 หากไม่มีกำหนดระยะเวลาก็เข้ามาตรา 165(8)
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2496 จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้สอบบัญชี ตกลงให้ค่าจ้างโจทก์เดือนละ 200 บาท โดยชำระเมื่อมีการสอบบัญชีเสร็จเป็นรายปีโจทก์ได้ทำการสอบบัญชีบริษัทของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2495 จนถึง พ.ศ. 2498 รวม 3 ปี โจทก์ควรได้ค่าจ้าง รวม 7,200 บาท โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวนนี้จากจำเลยพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้จ้างโจทก์เป็นผู้สอบบัญชีและตัดฟ้องว่าคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า คดีขาดอายุความตามมาตรา 165(8) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังไม่ขาดอายุความตามมาตรา 166 จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เงินเดือนก็มีลักษณะเป็นเงินค่าจ้างทำงานนั่นเอง แต่มีลักษณะจ่ายเป็นรายเดือน จึงเรียกว่าเงินเดือนข้อสำคัญเกี่ยวกับกำหนดอายุความตามมาตรา 165(8) กับมาตรา 166 จึงอยู่ที่ว่า เงินค่าจ้างนั้น มีกำหนดจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลาหรือไม่ หากจ่ายเป็นกำหนดระยะเวลาก็เข้าตามมาตรา 166 หากไม่มีกำหนดระยะเวลาก็เข้ามาตรา 165(8) ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า เงินรายนี้จ่ายกันเมื่อมีการสอบบัญชีเสร็จเป็นรายปี แต่ปีใด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีสุดท้าย) จะตรวจเสร็จถึงกำหนดชำระเงินค่าตรวจกันเมื่อใดยังไม่ปรากฏ จะด่วนชี้ขาดว่าฟ้องของ โจทก์ขาดอายุความหรือไม่ในบัดนี้ ไม่สมควร รูปคดีตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยสมควรต่อไป
พิพากษายืน