คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 เป็นระเบียบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ระหว่างพนักงานกับจำเลย ส่วนมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ปตท. เป็นเพียงความเห็นของฝ่ายจำเลยที่ตีความระเบียบดังกล่าว โดยจำเลยไม่สามารถแก้ไขหรือตีความขัดแย้งกับระเบียบดังกล่าวได้โดยลำพัง ดังนั้น โจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลยหรือไม่เพียงใด ต้องพิเคราะห์จากระเบียบนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งข้อ 7 ระบุว่า “พนักงานที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทจะได้รับค่าตอบแทนในการทำงานต่อไปนี้จาก ปตท. หรือจากบริษัทก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างบริษัทกับ ปตท. แต่ค่าตอบแทนในการทำงานที่ได้รับนั้นจะต้องไม่น้อยกว่าที่พนักงานได้รับอยู่เดิมขณะปฏิบัติงานที่ ปตท. 7.1 เงินเดือนและโบนัส ฯลฯ” ระเบียบข้อนี้หมายความว่า พนักงานที่จำเลยส่งไปปฏิบัติงานที่บริษัทที่จำเลยถือหุ้นจะต้องได้รับเงินเดือนและเงินโบนัสไม่น้อยกว่าที่พนักงานนั้นเคยได้รับอยู่เดิมในขณะปฏิบัติงานที่จำเลย โจทก์ได้รับเงินเดือนที่บริษัท ป. มากกว่าที่ได้รับจากจำเลยร้อยละ 20 เนื่องจากชั่วโมงทำงานมากกว่าแต่ไม่ได้รับเงินโบนัสเพราะบริษัท ป. ไม่มีการจ่ายเงินโบนัส โจทก์ย่อมมีสิทธิรับเงินโบนัสจากจำเลยเท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมขณะปฏิบัติงานกับจำเลย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะคำนวณอย่างไร จำเลยจึงจัดประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลของจำเลยเพื่อกำหนดวิธีคำนวณเงินโบนัสดังกล่าว 2 ครั้ง ที่ประชุมมีมติให้พนักงาน Secondment มีสิทธิได้รับเงินรางวัล (เงินโบนัส) เช่นเดียวกับพนักงานของจำเลย โดยคำนวณจากเงินเดือนเงา ซึ่งหมายถึงเงินเดือนที่เคยได้รับอยู่เดิมจากจำเลย อันเป็นการสอดคล้องกับข้อ 7 แห่งระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 แต่ที่ประชุมมีมติให้ใช้วิธีเปรียบเทียบรายได้ของพนักงานที่ได้รับจากจำเลยและบริษัทที่ไปปฏิบัติงาน หากรายได้จากจำเลยมากกว่า จำเลยจะจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มให้แก่พนักงาน ถ้ารายได้ที่ได้รับจากบริษัทมากกว่า ให้พนักงานรับเงินจากบริษัททางเดียวนั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าว เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิพนักงานที่จะได้รับเงินโบนัส หรือได้รับเงินโบนัสไม่เท่ากับพนักงานของจำเลย มติของที่ประชุมจึงใช้บังคับไม่ได้ กรณีของโจทก์ต้องบังคับตามข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าว โดยพิจารณาประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลที่กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์โดยคำนวณจากเงินเดือนเงา

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 117,011.74 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 62,123.95 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินโบนัสแต่ละจำนวนนับแต่วันทวงถาม (วันที่ 4 สิงหาคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวน 117,011.74 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 62,123.95 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินโบนัสแต่ละจำนวนนับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองไปปฏิบัติหน้าที่ที่บริษัทปิโตรเอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้หลักเกณฑ์ระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 ข้อ 7 ที่ว่า พนักงานของจำเลยที่ส่งไปปฏิบัติงานที่บริษัทร่วมทุนต้องได้รับค่าตอบแทนในการทำงานไม่น้อยกว่าที่พนักงานได้รับอยู่เดิมในขณะปฏิบัติงานที่จำเลย ซึ่งเป็นภาระของจำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสอง แม้การประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ครั้งที่ 6/2538 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2538 จะมีมติให้พนักงาน Secondment มีสิทธิได้รับเงินรางวัล (เงินโบนัส) เช่นเดียวกับพนักงานที่ทำงานกับจำเลย โดยคำนวณจากเงินเดือนเงา แต่ก็มีมติอีกว่าให้คณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานใหญ่ แก้ไขปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ปตท. ซึ่งหมายความว่าจะต้องนำไปแก้ไขปรับปรุงแล้วจึงจะใช้บังคับ เมื่อยังไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงย่อมไม่มีผลบังคับ และต่อมาจำเลยได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ครั้งที่ 10/2538 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 ที่ประชุมมีมติให้จ่ายเงินโบนัสแก่พนักงาน Secondment เฉพาะในส่วนค่าตอบแทนตามระเบียบ ปตท. ว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 ข้อ 7 โดยวิธีเปรียบเทียบรายได้ที่พนักงานได้รับจากจำเลย อันประกอบด้วยเงินเดือนเงาเงินเพิ่มพิเศษ และเงินโบนัส กับรายได้ที่ได้รับจากบริษัทที่พนักงานไปปฏิบัติหน้าที่อันประกอบด้วย เงินเดือน เงินเพิ่มพิเศษ และเงินโบนัส หากรายได้ที่ได้รับจากจำเลยมากกว่าที่ได้รับจากบริษัท จำเลยจะจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นให้แก่พนักงานหากรายได้ที่ได้รับจากบริษัทที่ไปปฏิบัติงานมากกว่าที่ได้รับจากจำเลย ให้พนักงานรับเงินจากบริษัทดังกล่าวทางเดียว เมื่อเปรียบเทียบรายได้ของโจทก์ทั้งสองแล้วปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับจากบริษัทปิโตรเอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด น้อยกว่าที่ได้รับจากจำเลย จำเลยจึงจ่ายเงินส่วนต่างดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองรับไปเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ ปตท. ว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 ข้อ 7 แล้ว โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสอีก เห็นว่า ระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 เป็นระเบียบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ระหว่างพนักงานกับจำเลย ส่วนมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ปตท. ครั้งที่ 6/2538 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2538 กับครั้งที่ 10/2538 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 เป็นเพียงความเห็นของฝ่ายจำเลยที่ตีความระเบียบดังกล่าวเท่านั้น โดยจำเลยไม่สามารถแก้ไขหรือตีความขัดแย้งกับระเบียบดังกล่าวได้โดยลำพัง ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด ต้องพิเคราะห์จากระเบียบนั้นเป็นสำคัญซึ่งข้อ 7 ระบุว่า “พนักงานที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทจะได้รับค่าตอบแทนในการทำงานต่อไปนี้จาก ปตท. หรือจากบริษัทก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างบริษัทกับ ปตท. แต่ค่าตอบแทนในการทำงานที่ได้รับนั้นจะต้องไม่น้อยกว่าที่พนักงานได้รับอยู่เดิมขณะปฏิบัติงานที่ ปตท. 7.1 เงินเดือนและ ฯลฯ” ระเบียบข้อนี้หมายความว่า พนักงานที่จำเลยส่งไปปฏิบัติงานที่บริษัทที่จำเลยถือหุ้นจะต้องได้รับเงินเดือนและเงินโบนัสไม่น้อยกว่าที่พนักงานนั้นเคยได้รับอยู่เดิมในขณะปฏิบัติงานที่จำเลย ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินเดือนที่บริษัทปิโตรเอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด มากกว่าที่ได้รับจากจำเลยร้อยละ 20 เนื่องจากชั่วโมงทำงานมากกว่า แต่ไม่ได้รับเงินโบนัสเพราะบริษัทปิโตรเอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีการจ่ายเงินโบนัส โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิรับเงินโบนัสจากจำเลยเท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิมขณะปฏิบัติงานกับจำเลย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะคำนวณอย่างไร จำเลยจึงจัดประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลของจำเลยเพื่อกำหนดวิธีคำนวณเงินโบนัสดังกล่าว 2 ครั้ง คือการประชุมครั้งที่ 6/2538 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2538 ที่ประชุมมีมติให้พนักงาน Secondment มีสิทธิได้รับเงินรางวัล (เงินโบนัส) เช่นเดียวกับพนักงานของจำเลย โดยคำนวณจากเงินเดือนเงา ซึ่งหมายถึงเงินเดือนที่เคยได้รับอยู่เดิมจากจำเลย อันเป็นการสอดคล้องกับข้อ 7 แห่งระเบียบการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการให้พนักงานไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น พ.ศ. 2536 แต่การประชุมครั้งที่ 10/2538 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2538 ที่ประชุมมีมติให้ใช้วิธีเปรียบเทียบรายได้ของพนักงานที่ได้รับจากจำเลยและบริษัทที่ไปปฏิบัติงาน หากรายได้จากจำเลยมากกว่า จำเลยจะจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มให้แก่พนักงาน ถ้ารายได้ที่ได้รับจากบริษัทมากกว่า ให้พนักงานรับเงินจากบริษัททางเดียวนั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าว เนื่องจากเป็นการตัดสิทธิพนักงานที่จะได้รับเงินโบนัส หรือได้รับเงินโบนัสไม่เท่ากับพนักงานของจำเลย มติของที่ประชุมครั้งที่ 10/2538 จึงใช้บังคับไม่ได้ กรณีของโจทก์ทั้งสองจึงต้องบังคับตามข้อ 7 แห่งระเบียบดังกล่าว โดยพิจารณาประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคล ครั้งที่ 6/2538 ที่กำหนดให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์ทั้งสองโดยคำนวณจากเงินเดือนเงา เมื่อจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยวิธีเปรียบเทียบรายได้ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสส่วนที่ขาดโดยวิธีคำนวณจากเงินเดือนเงาจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share