แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคาร จำเลยผู้จะขายจะต้องก่อสร้างอาคารที่ตกลงจะซื้อขายให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 24 เดือน นับแต่วันทำสัญญา แต่เมื่อครบกำหนดดังกล่าว จำเลยก่อสร้างอาคารตามสัญญาไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยก็ยังไม่อาจส่งมอบอาคารให้โจทก์ได้ ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยไม่ได้มีข้อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่สุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีนี้อย่างไร ทั้งตามสำนวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยสู้ความโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติมาตรา 142 (6) ที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๔๔๗,๒๖๗.๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๑๔๔,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญากับโจทก์จริง แต่จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระค่างวดให้ครบถ้วนตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย กำหนดเวลา ๓๐ วัน ที่โจทก์แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาน้อยเกินไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑,๔๗๗,๒๖๗.๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๑๔๔,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๑) จนถึงวันชำระเสร็จ ให้เปลี่ยนจากร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นร้อยละ ๑๕ ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว
การที่จำเลยก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดจึงเป็นการผิดสัญญา หลังจากครบกำหนดการก่อสร้างตามสัญญาแล้ว โจทก์ยังคงผ่อนชำระค่างวดให้แก่จำเลยต่อมาจนถึงงวดที่ ๔๒ แสดงว่าโจทก์ยังมีความประสงค์ที่จะให้จำเลยก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา แต่เมื่อโจทก์ผ่อนชำระค่างวดมาถึงงวดที่ ๔๒ ซึ่งเป็นระยะเวลานับแต่วันทำสัญญาประมาณ ๓ ปี ๖ เดือน ปรากฏว่าจำเลยก็ยังก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ระยะเวลาดังกล่าวเนิ่นนานพอที่จะทำให้จำเลยสามารถก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ แต่จำเลยก็เพิกเฉยไม่ทำการก่อสร้างอาคารต่อไปให้แล้วเสร็จ เมื่อการก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ โจทก์จึงได้ทำเอกสารหมาย จ. ๕ ถึงจำเลยขอยุติการชำระค่างวดตั้งแต่งวดที่ ๔๓ เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารให้โจทก์เข้าอยู่อาศัยได้ตามสัญญา ซึ่งจำเลยก็ตกลงให้โจทก์หยุดการชำระค่างวดได้จนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารให้โจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ. ๖ หลังจากนั้นก็ปรากฏว่าจำเลยมิได้ทำการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ โดยคงหยุดการก่อสร้างตลอดมา ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ. ๘ ถึง จ. ๑๒ การที่โจทก์ขอหยุดผ่อนการชำระค่างวดและจำเลยก็เห็นชอบแล้ว เป็นการที่โจทก์กระทำเพื่อบรรเทาความเสียหายของโจทก์ โจทก์มิได้เป็นผู้ผิดสัญญาแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่ก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ โจทก์จึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ. ๑๓ บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือแล้วปรากฏตามใบตอบรับในประเทศของการสื่อสารแห่งประเทศไทย แต่จำเลยก็ไม่อาจส่งมอบที่ดินและอาคารให้โจทก์ได้ ที่จำเลยอ้างว่าระยะเวลา ๓๐ วัน ไม่พอที่จำเลยจะปฏิบัติตามสัญญาได้นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับหนังสือให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาของโจทก์ เมื่อจำเลยเห็นว่าระยะเวลา ๓๐ วัน ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ หากจำเลยมีความสุจริตในการปฏิบัติตามสัญญาจริง จำเลยก็ชอบที่จะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างอาคารจากโจทก์ได้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างจากโจทก์ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ๓๐ วัน จำเลยยังไม่อาจส่งมอบอาคารให้โจทก์ได้ จึงถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารตามเอกสารหมาย จ. ๔ ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่สถานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ จำเลยฎีกาประการต่อมาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องถึงวันชำระเสร็จ โดยที่ไม่มีผู้ใดอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบ เห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องหรือสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๖) โดยที่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดาวน์และเงินค่างวดคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามคำฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ในส่วนดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี โดยตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้มีข้อวินิจฉัยว่า จำเลยไม่สุจริตในการสู้ความหรือในการดำเนินคดีนี้อย่างไร ทั้งตามสำนวนก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยสู้ความโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่มีเหตุตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๒ (๖) ที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราที่สูงเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตร ๑๔๒ วรรคหนึ่ง ฎีกาในข้อนี้ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.