แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การเดินทางไปเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าตามหน้าที่ ซึ่งนายจ้างไม่เคร่งครัดต่อการลงเวลาทำงานในแต่ละวันและลูกจ้างได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบแล้ว ทั้งเวลาที่เดินทางไปและเวลานัดหมายให้ไป รับเงินก็ต่อเนื่องและคาบเกี่ยวกับเวลาเริ่มทำงานปกติ เหมาะสมตามสภาพของงานที่ลูกจ้างจะพึงกระทำเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง ถือว่า เป็นการเริ่มทำงานให้นายจ้างแล้ว เมื่อลูกจ้างประสบเหตุทางรถยนต์ ถึงแก่ความตายในระหว่างเดินทางไปเก็บเงินจึงเป็นการประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายพีระแสงสว่าง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2531 นายพีระเข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทยูนิเวอร์แซล อิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานขายและเก็บเงินลูกค้า ต่อมานายพีระได้ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างเพราะอยู่ในระหว่างเดินทางไปเก็บเงินจากนายจันโท ศรีราชา ลูกค้าตามหน้าที่ที่บ้านห้วยเหียม แต่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเลยได้วินิจฉัยว่า นายพีระมิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้วินิจฉัยเช่นเดียวกับสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเลยขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเลยตามหนังสือที่ ลย 0030/9587 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2540 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส 0711/2013 ลงวันที่ 18มีนาคม 2541 และพิพากษาว่านายพีระประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายพีระมิได้ประสบอันตรายเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างเพราะเวลาที่นายพีระเดินทางไปเก็บเงินจากลูกค้านั้น ยังมิใช่เวลาการทำงาน ทั้งผู้บังคับบัญชาก็มิได้ออกคำสั่งให้เร่งรัดเก็บเงินจากลูกค้ารายดังกล่าวซึ่งมีระยะทางห่างจากบ้านของนายพีระถึง 110 กิโลเมตรขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยตามหนังสือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเลยที่ ลย 0030/9587 ลงวันที่ 14สิงหาคม 2540 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือสำนักงานกองทุนเงินทดแทนที่ รส 0711/2013 ลงวันที่ 18 มีนาคม2541 และให้จำเลยจ่ายค่าทำศพจำนวน 12,800 บาท ค่าทดแทนรายเดือนเดือนละ 1,699.35 บาท นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 มีกำหนด 8 ปีแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่านายพีระไปปฏิบัติงานนอกเวลาทำงานปกติโดยมิได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาจึงไม่ใช่การประสบอันตรายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างนั้นเห็นว่า นายพีระเป็นลูกจ้างบริษัทยูนิเวอร์แซลอิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัดทำหน้าที่ขาย ให้เช่าซื้อสินค้า และติดตามเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าโดยไม่มีเงินเดือนแน่นอน คงได้รับแต่เพียงค่าตอบแทนการขายเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าสินค้าและเงินค่าสินค้าที่ติดตามเก็บได้เท่านั้น การไปขายและเก็บเงินค่าสินค้าในแต่ละวันก็มิได้กำหนดไว้แน่นอนว่าจะไป ณ สถานที่ใดใกล้หรือไกลเพียงใด สภาพการทำงานดังกล่าวจึงทำให้นายจ้างไม่เคร่งครัดต่อการลงเวลาทำงานในแต่ละวัน ก่อนวันเกิดเหตุนายจันโท ศรีราชา ซึ่งเช่าซื้อสินค้าของบริษัทไปจากนายพีระมีหนังสือแจ้งให้นายพีระไปรับเงินค่าสินค้าก่อนเวลา7 ถึง 8 นาฬิกา ของวันเกิดเหตุ เพราะหลังจากนั้นนายจันโทจะเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวันจนพ้นระยะเวลาของงวดชำระเงินจึงจะกลับ และบ้านนายจันโทที่จะไปเก็บเงินก็อยู่ไกลถึงประมาณ 110 กิโลเมตร นายพีระต้องรีบออกเดินทางไปตั้งแต่เวลา 4 นาฬิกา เพื่อให้ไปถึงบ้านนายจันโททันเวลาที่กำหนดไว้และจะได้รับเงินแน่นอนเร็วขึ้นทั้งเวลาที่เดินทางไปและเวลานัดหมายให้ไปรับเงินก็ต่อเนื่องและคาบเกี่ยวกับเวลาเริ่มทำงานปกติที่นายจ้างกำหนดดังนั้น แม้นายพีระไม่ได้ลงเวลาทำงาน แต่ได้แจ้งให้นายนิคมผู้บังคับบัญชาทราบก่อนเดินทางแล้ว ประกอบกับสภาพของการทำงานในวันเกิดเหตุไม่อาจจะไปลงเวลาทำงานก่อนเดินทางไป การเดินทางไปเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้านายจ้างของนายพีระในกรณีนี้จึงเป็นการทำงานที่เหมาะสมตามสภาพของงานที่นายพีระจะพึงกระทำเพื่อประโยชน์ของนายจ้างและถือว่าเป็นการเริ่มทำงานให้นายจ้างแล้ว เมื่อนายพีระประสบเหตุทางรถยนต์ถึงแก่ความตายในระหว่างเดินทางไปเก็บเงินจึงเป็นการประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ส่วนที่จำเลยอ้างว่าการที่ศาลแรงงานกลางเชื่อว่านายพีระเดินทางไปเก็บเงินค่าสินค้าเป็นการทำงานให้แก่นายจ้างเท่ากับยอมรับว่าลูกจ้างอาจทำงานเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ต้องรับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นก็ได้ เป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางเพียงแต่วินิจฉัยว่าการที่นายพีระเดินทางไปเก็บเงินค่าสินค้าเป็นการทำงานให้แก่นายจ้างเท่านั้น มิได้วินิจฉัยว่าลูกจ้างอาจทำงานในเวลาทำงานปกติเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ หรืออาจทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ต้องรับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นก็ได้ดังจำเลยอ้าง ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง การวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางมิได้ฝ่าฝืนกฎหมาย”
พิพากษายืน