คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเพียงแต่จัดหาสารเคมีเพื่อใช้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต แต่มิได้เข้าไปร่วมผลิตหรือกระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนให้จำเลยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่ง มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 ที่ผลิตขึ้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต คงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวผลิตเมทแอมเฟตามีน อีกทั้งจะนำ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการก็มิได้ เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างถึง พ.ร.บ. ฉบับนี้มาเป็นบทที่ขอให้ลงโทษจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๓ ทวิ, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๐๖ ทวิ, ๑๑๖ ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑ ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ สีน้ำตาลทอง หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค – ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ ๑ ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๘๙ ประกอบด้วย พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓, ๖ (๑) ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๐ จำคุก ๒๐ ปี ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ คันหมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค – ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ ๑ ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๘๙ ประกอบ ป.อ. มาตรา ๘๖ ให้ลงโทษจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ร่วมกันจับกุมนายคำภีร์ งามขำ นางสาวน้อยหรือจิตตรา ทองใบ นางใจ ดาบุตรหรือแสนบุตรดี นายเส่ง เกษมศรีสุขสง่า นายไพสาน บัวทอง นางอร บัวทอง นางสุภาภรณ์ จิตตั้งบุญญา และนายวีระภัทร อินขำเครือ รวมแปดคนในข้อหาร่วมกันผลิตและมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์น้ำหนัก ๗๐.๒๒ กิโลกรัม อีเฟดรีนบริสุทธิ์น้ำหนัก ๖๓.๓๓ กิโลกรัม พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตกับรถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค – ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง และต่อมา ได้ฟ้องเป็นจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๖๖๕๙/๒๕๓๖ ของศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๗ เจ้าพนักงานสำนักงานเดียวกันจับกุมจำเลยได้ในคดีอื่นและอายัดตัวมาดำเนินคดีนี้ … ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าว มีวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องนำ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากพยานหลักฐานของโจทก์เองว่า จำเลยเพียงแต่จัดหาสารเคมีเพื่อใช้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต แต่จำเลยมิได้เข้าไปร่วมผลิตหรือกระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนให้จำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ที่ผลิตขึ้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต อีกทั้งจะนำ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการก็มิได้ เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้มาเป็นบทที่ขอให้ลงโทษจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่
พิพากษายืน .

Share