คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 33/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นทนายความของโจทก์ในคดีก่อนมีอำนาจรับเงินจากจำเลยในคดีนั้นแทนโจทก์ได้เมื่อจำเลยรับเงินจาก ธ. ซึ่งชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยในคดีดังกล่าว เงินที่จำเลยรับไว้จึงตกเป็นของโจทก์จำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอก โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกโดยบรรยายฟ้องว่าระหว่างวันเวลาที่ระบุไว้จำเลยรับเงินจาก ธ. ซึ่งชำระหนี้แก่โจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน180,000 บาท และจำเลยเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวไปโดยทุจริตมิได้บรรยายให้ปรากฏว่าจำเลยรับเงินกี่ครั้งครั้งละเท่าใด ดังนี้ แม้จะพิจารณา ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันศาลก็จะเรียงกระทงลงโทษจำเลยไม่ได้ เพราะเป็นการนอกเหนือไปจากฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 , 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิด 4 กรรม เรียงกระทงลงโทษกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 24 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยจะรับเงินเพื่อไปมอบให้โจทก์จำเลยก็มีฐานะเป็นตัวแทนของนางกุหลาบหรือนายธวัชชัยไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ การที่จำเลยเบียดบังเอาเงินไว้เป็นของตนโดยไม่นำไปมอบแก่โจทก์ จำเลยต้องรับผิดทางแพ่งแก่บุคคลทั้งสองดังกล่าวเท่านั้น เพราะเงินดังกล่าวยังไม่ตกเป็นของโจทก์การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยมีอำนาจรับเงินจากจำเลยทั้งสองในคดีอาญาดังกล่าวแทนโจทก์ได้ และจำเลยได้รับเงินจากนายธวัชชัยซึ่งชำระหนี้แก่โจทก์แทนนางกุหลาบจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว เงินที่จำเลยรับไว้จึงตกเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินนั้นไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตการกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยได้คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดที่ไหนเมื่อใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2526 ถึงวันที่ 21 มกราคม 2528 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้เบียดบังยักยอกเงินที่นายธวัชชัยชำระให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 7482/2526 ของศาลอาญาเป็นของตนโดยทุจริต และได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร เกี่ยวเนื่องกัน เช่นนี้ ถือได้ว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า ระหว่างวันเวลาที่ระบุในฟ้องจำเลยได้รับเงินจากนายธวัชชัยซึ่งชำระหนี้แก่โจทก์แทนจำเลยทั้งสองในคดีอาญาดังกล่าวหลายครั้งรวมเป็นเงิน 180,000 บาทและจำเลยเบียดบังยักยอกเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต ฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้ปรากฏว่า จำเลยได้รับเงินจากนายธวัชชัยดังกล่าวจำนวนกี่ครั้ง แต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด ดังนี้ แม้จะพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกหลายกรรมต่างกัน ศาลก็จะเรียงกระทงลงโทษจำเลยแต่ละกรรมไม่ได้เพราะเป็นการนอกเหนือไปจากฟ้อง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 กระทงเดียว จำคุก 6 เดือน

Share