คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5064/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดว่าการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่นั้น ถ้าในทางพิจารณาได้ความว่าการกำหนดค่าทดแทนไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้ใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรมแก่คู่ความมิใช่ต้องพิพากษาเพิกถอนการกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น
จำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาล โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยโจทก์ไม่จำต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว เพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษได้บัญญัติไว้แล้วซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายหนาม นาคสุก ผู้ตาย ผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 74129 กับไม้ยืนต้น 7 รายการ จำเลยได้เวนคืนที่ดินของผู้ตาย เพื่อสร้างทางพิเศษโครงการระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสาธร-ลาดพร้าวที่ดินของผู้ตายถูกเวนคืนทั้งแปลง ผู้ตายรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวและขอสงวนสิทธิที่จะอุทธรณ์เพราะค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้ต่ำกว่าความเป็นจริงและไม่เป็นธรรมผู้ตายได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่ไม่ได้รับคำวินิจฉัยภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินอยู่ในย่านการค้า สถานที่ราชการสถานทูต โรงแรมและห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ที่ดินของโจทก์ควรมีราคาตารางวาละ80,000 บาท คิดเป็นค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน 18,560,000 บาท จำเลยชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์แล้ว 4,640,000 บาท จึงต้องชำระค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ 13,920,000บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 13,920,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้นำบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรมที่ดินประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดิน โดยพิจารณาประกอบกับข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์และข้อมูลจากราคาซื้อขายปกติตามท้องตลาด ซึ่งราคาตามบัญชีดังกล่าวมีราคาสูงและเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน จำเลยได้จ่ายเงินค่าทดแทนตามที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ตายแล้ว ราคาซื้อขายตามอุทธรณ์ของนายหนามและตามที่โจทก์ฟ้องสูงกว่าความเป็นจริงเพราะสภาพที่ดินยังไม่มีการถม อยู่ติดคลองลำชวดกระทุ่มโพรงต่ำกว่าถนนและไม่มีทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนสาธารณะ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารออมสินอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 6.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 464,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1. ว่า การกำหนดค่าทดแทนถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ถูกต้องและเป็นธรรม ส่วนจำเลยให้การว่าการกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ถูกต้องและเป็นธรรม ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าการกำหนดค่าทดแทนถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ จึงชอบแล้ว ซึ่งตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว หากทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนไม่ถูกต้องและเป็นธรรมแล้ว ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้ใหม่ให้ถูกต้องและเป็นธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่าย มิใช่จะต้องพิพากษาเพิกถอนการกำหนดค่าทดแทนของคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นของจำเลยนำแต่ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินปี 2535 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนเท่านั้น มิได้นำหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาประกอบการพิจารณา แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพที่ดินของโจทก์แล้วเห็นว่าที่ดินของโจทก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ด้านกว้างติดกับคลองลำชวดกระทุ่มโพรง ที่ดินยังเป็นสภาพเดิมคือที่ดินสำหรับทำนายังไม่ได้พัฒนา มีที่ดินของบุคคลอื่นล้อมรอบ ไม่มีทางรถยนต์เข้าออกได้ และอยู่ห่างจากถนนใหญ่ด้านละไม่ต่ำกว่า 800 เมตร โจทก์นำสืบว่าที่ดินของโจทก์มีสภาพใกล้เคียงและทำเลที่ตั้งเมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์ควรมีราคาตารางวาละ 80,000 บาท แม้โจทก์จะไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงแต่คดีก็ได้ความว่าที่ดินของโจทก์อยู่ใกล้สถานที่ราชการ สถานทูต โรงแรม และห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อีกทั้งที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนหมดทั้งแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้โจทก์อีกตารางวาละ 2,000 บาท เป็นตารางวาละ 22,000 บาทจึงถูกต้องและเป็นธรรมแก่คู่ความแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังเอกสารราคาประเมินทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นการประเมินของเอกชนโดยไม่ยอมรับฟังเอกสารการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเอกสารหมาย ล.14 ที่จำเลยนำมาอ้างว่ามีราคาตารางวาละ 3,012 บาท ซึ่งเป็นเอกสารของทางราชการนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาเฉพาะเอกสารของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว มิฉะนั้นก็คงจะให้ค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากนั้นเอกสารการจดทะเบียนที่ดินตามเอกสารหมาย ล.14ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินในราคาตารางวาละ 3,012 บาทเสมอไป ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกตารางวาละ 2,000บาท จึงนับว่าถูกต้องและเป็นธรรมแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยอัตราเท่าใดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาและโจทก์มิได้อุทธรณ์ โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวว่ามีอัตราเท่าใดเพราะเป็นกรณีที่มีกฎหมายพิเศษบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายนั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จซึ่งเป็นอัตราคงที่นั้นไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้โจทก์รับได้เท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ทั้งนี้ไม่เกินอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี ของจำนวนเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share