แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นตำรวจติดเฮโรอีน ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำ และยิงเข้าไปในร้านค้าทองในเวลากลางวัน ถูกคนในร้านถึงตาย ถูกจับในวันเดียวกัน และค้นได้ของกลางที่บ้านบิดาจำเลย เหตุที่จำเลยยอมรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อหลักฐาน หาใช่เพราะสำนึกผิดและเพื่อบรรเทาผลร้ายไม่ จึงไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษ
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 59 ปรับ 10,000 บาท ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 339 วรรคท้าย และ 340 ตรี ให้ลงโทษตามมาตรา 339 วรรคท้าย, 340 ตรี อันเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิต ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 37,500 บาทแก่ผู้เสียหายอาวุธปืนและกระสุนปืนคืนกรมตำรวจ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกาขออย่าให้ลงโทษประหารชีวิต
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์มาจอดที่หน้าร้านค้าทองชัยวัฒน์ แล้วเข้าไปถามขอซื้อสร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำ นายกิตติศักดิ์ อภิวันทนันท์ และนางสาววราภรณ์แซ่กี้ ได้นำสร้อยคอและสร้อยข้อมือให้จำเลยดู ขณะนั้น นางเล็ก เพชรวิเศษศิริได้ออกมาช่วยขายด้วย จำเลยตกลงซื้อสร้อยคอทองคำหนักเส้นละ 2 บาท จำนวน 3 เส้น และสร้อยข้อมือหนักเส้นละ 2 สลึง จำนวน 4 เส้น รวมเป็นน้ำหนักทอง 8 บาท เป็นเงิน 40,000 บาท นางเล็กได้เอาสร้อยคอและสร้อยข้อมือใส่ถุงพลาสติกถือไว้ ขณะนั้นจำเลยได้ร้องขึ้นว่ารถเป็นอะไรพร้อมกับกระชากถุงพลาสติกใส่ทองจากมือนางเล็กวิ่งหนีไปที่รถจักรยานยนต์ โดยมีนายกิตติศักดิ์วิ่งไล่ตามออกไป แต่นายกิตติศักดิ์สะดุดโต๊ะในร้านล้มลงพอดี จำเลยหันมาใช้ปืนจ้องเล็งและยิงเข้าในร้าน 1 นัด กระสุนถูกนางเล็ก จำเลยขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป นายกิตติศักดิ์นำนางเล็กส่งโรงพยาบาล ไปถึงโรงพยาบาลประมาณ 5 นาที นางเล็กก็ตาย ดังปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง วันเดียวกันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยได้ จำเลยรับสารภาพให้นายกิตติศักดิ์และนางสาววราภรณ์ดูตัว ทั้งสองจำจำเลยได้วันที่ 2 มีนาคม 2526 เจ้าหน้าที่ค้นสายสร้อยข้อมือหนัก 2 สลึงได้ 1 เส้น ที่บ้านนายบุญมา ศุกรีรัตน์ ปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นในสำนวน (ศาลชั้นต้นมิได้หมายกำกับไว้) จำเลยได้นำชี้สถานที่เกิดเหตุให้พนักงานสอบสวนถ่ายภาพไว้
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาในชั้นฎีกามีว่า ควรจะลงโทษจำเลยถึงประหารชีวิตหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน เคยได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ขั้นเป็นกรณีพิเศษ ไม่เคยมีนิสัยกับความประพฤติชั่วร้ายหรือกระทำผิดมาก่อนนั้น เห็นว่าจากที่ปรากฏในฎีกาของจำเลยว่า จำเลยติดเฮโรอีน การเสพเอโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดนั้นเป็นความผิดในทางอาญา เพียงแต่ว่าจำเลยยังไม่เคยถูกจับเท่านั้น ดังนี้จำเลยจะอ้างได้อย่างไรว่าจำเลยเป็นผู้ที่มีความประพฤติไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า จำเลยสำนึกผิดจึงให้การรับสารภาพมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวันประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ติดตามจับจำเลยได้ในวันเดียวกันนั้นเอง ทั้งยังค้นได้สายสร้อยข้อมือ 1 เส้น ที่บ้านนายบุญมาศุกรีรัตน์ ซึ่งปรากฏในสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 20/1 หมู่ 14 ว่า นายบุญมาเป็นบิดาจำเลยเป็นของกลาง จึงเป็นที่เห็นได้ว่า เหตุที่จำเลยยอมรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน หาใช่เป็นเพราะสำนึกผิดและรับสารภาพเพื่อเป็นการบรรเทาผลร้ายดังที่จำเลยอ้างไม่ การรับสารภาพของจำเลยจึงไม่อาจถือว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างที่จำเลยฎีกา จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน กลับมากระทำผิดเสียเองและทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ทรัพย์สินไปแล้วยังหันกลับมาใช้ปืนยิงเข้าในร้านของผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้กระสุนปืนไปถูกนางเล็กถึงแก่ความตายเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยจะต้องรับโทษให้สมกับกรรมที่ตนได้ก่อขึ้น ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิตนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน