คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะอนุญาตให้เจ้าหนี้มีประกันผู้ร้องซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีคำสั่งอนุญาตให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนองในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิม ซึ่งไม่ยอมรับหน้าที่นั้น ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ร้อง เพราะเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิเฉพาะเหนือทรัพย์สินอันลูกหนี้ได้ให้ไว้เป็นหลักประกันเท่านั้น หาอาจจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกหนี้ได้ไม่ ทั้งจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่หมดโอกาสในการที่จะหลุดพ้นจากสภาพที่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายอีกด้วยผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิม

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลย(ลูกหนี้) ที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 23258ของตนไว้กับผู้ร้องก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีนี้แล้ว ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ แต่ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันและทำการยึดทรัพย์จำนองไว้แล้ว คดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ 2 ราย คือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ และเจ้าหนี้อื่นอีก 1 รายต่อมาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอถอนตัว เจ้าหนี้อีกรายหนึ่งก็ไม่ยอมรับหน้าที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทน เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายลงไม่ได้มีการขอให้เรียกทายาทของจำเลยที่ 2 เข้ามาในคดี ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันได้ขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งยกคำร้องอ้างว่า เจ้าหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยความเห็นชอบของที่ประชุมเจ้าหนี้มีอำนาจแต่งตั้งเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมตามมาตรา 156 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483นั้น น่าจะหมายถึงเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีล้มละลายเท่านั้น เจ้าหนี้มีประกันที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แม้จะมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการบังคับคดีชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินประกัน แต่ก็หาเป็นเจ้าหนี้ที่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในคดีเช่นเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่จึงไม่มีสิทธิขอรับเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมได้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยมาตรา 156 ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิม เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายต่อไป ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ผู้ร้องคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เฉพาะทรัพย์สินอันเป็นประกัน ตามมาตรา 32 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ก็บัญญัติให้เจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นที่มีสิทธิเข้าประชุมเจ้าหนี้ และมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ แม้คดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันก็เป็นเพียงยอมรับสิทธิของผู้ร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันเท่านั้น หาทำให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเช่นเจ้าหนี้ซึ่งได้ยื่นคำขอรับหนี้หรือมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ไม่ คำว่า เจ้าหนี้คนอื่นตามมาตรา 156 หมายถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้แต่งตั้งผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 156 ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันจากจำเลยที่ 2 ในทางจำนอง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่จำนองดังกล่าว ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 95 และคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียง 2 รายคือเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิมกับเจ้าหนี้อื่นอีก 1 ราย แต่เจ้าหนี้ทั้งสองรายนี้ไม่ยอมรับหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทน มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ในกรณีเช่นนี้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะขอเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์เดิมได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันคงมีอยู่เฉพาะเหนือทรัพย์สินอันลูกหนี้ได้ให้ไว้เป็นหลักประกันเท่านั้น ผู้ร้องหาอาจที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอย่างอื่นของลูกหนี้ได้ไม่ การที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เดิม จึงย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ร้องแต่ประการใดเพราะถึงอย่างไรผู้ร้องก็คงดำเนินการบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันได้เท่านั้นเมื่อเป็นดังนี้หากศาลจะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์แทนโจทก์เดิม ดังที่ผู้ร้องขอและศาลอุทธรณ์เห็นชอบโดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการให้ตามขั้นตอนของกฎหมายนั้นนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อผู้ร้องดังกล่าวแล้วกลับจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่หมดโอกาสในการที่จะหลุดพ้นจากสภาพที่ต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายอีกด้วย ดังนั้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้รับคำร้อง ของผู้ร้องไว้ดำเนินการต่อไปดังกล่าว…”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ของผู้ร้อง

Share