แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดตราจองที่ 3369ซึ่งมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะในที่ดินโฉนดตราจองที่ 3369ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่โจทก์แบ่งแยกมาเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางพิพาทในที่ดินจำเลยซึ่งเป็นที่ดินแปลงอื่นเป็นทางเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะหาได้ไม่ ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางจำเป็นแก่โจทก์ โจทก์อ้างว่าใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอม มีผลเป็นการรอนสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น จึงต้องมีหลักฐานชัดแจ้งมั่นคงว่า โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิในทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์หรือโดยพลการต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิในทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์หรือโดยพลการหากแต่มีลักษณะว่าได้ใช้สิทธิในทางพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้นไม่ว่าโจทก์จะใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกจากที่ดินของโจทก์มานานเพียงใดก็ตามทางพิพาทก็ไม่เป็นทางภารจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 8509, 8510 จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14331 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยอยู่ติดกัน ที่ดินของโจทก์ทั้งสองไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะนายชุบ โพธิ์พุ่ม เจ้าของที่ดินเดิมของจำเลยยกที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อทำทาง โจทก์ทั้งสองใช้ทางเดินเข้าออกสู่ถนนพญาเสือผ่านที่ดินจำเลยทางด้านทิศตะวันตก กว้าง 1.50 เมตรยาว 31 เมตรเศษ ติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยสงบเปิดเผย และเจตนาให้ได้ภารจำยอม ที่ดินของจำเลยจึงเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมโดยอายุความจำเลยเพิ่งซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางปราณี โพธิ์พุ่มบุตรนายชุบ เมื่อปี 2527 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2537 จำเลยล้อมลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทไม่ได้โจทก์ทั้งสองและบริวารเดินผ่าน ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็นและทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่14331 ของจำเลย ทางด้านทิศตะวันตกกว้าง 1.50 เมตร ยาว 31 เมตรเศษให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอม หากจำเลยไม่สามารถทำการจดทะเบียนได้ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ทางพิพาทมิใช่ทางจำเป็นหรือทางภารจำยอม เนื่องจากขณะจำเลยซื้อที่ดินจากนางปราณีโพธิ์พุ่ม ไม่มีข้อภาระผูกพันให้โจทก์ทั้งสองเดินผ่านทางพิพาทแต่อย่างใด แต่โจทก์ทั้งสองขออนุญาตจำเลยเดินผ่านที่ดินจำเลยทางทิศตะวันตกเพียงชั่วคราว ซึ่งไม่ถึง 10 ปี และทางพิพาทมิได้กว้างถึง 1.50 เมตร ยาว 31 เมตร โจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางอื่นดีกว่าทางเดินในที่ดินจำเลย ที่ดินของโจทก์ทั้งสองแบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่ตามโฉนดตราจองที่ 3369 ซึ่งมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว และเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินของจำเลยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินของจำเลยตามโฉนดที่ดินเลขที่14331 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลกจังหวัดพิษณุโลก ทางทิศตะวันตกกว้าง 1.50 เมตร ยาว 31 เมตร ตามแผนที่สังเขปหมายจ.5 เป็นทางภารจำยอมให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิเป็นทางภารจำยอม ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่8509 และ 8510 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่14331 ด้านหลังที่ดินจำเลยติดกับที่ดินโจทก์ทั้งสองทั้งสองแปลงดังกล่าว ส่วนด้านหน้าที่ดินจำเลยติดกับถนนพญาเสือซึ่งเป็นทางสาธารณะ เดิมที่ดินของจำเลยเป็นของนายชุบ โพธิ์พุ่ม เมื่อนายชุดถึงแก่กรรมจึงเป็นมรดกตกได้แก่นายปราณี โพธิ์พุ่มแล้วนางปราณีได้โอนขายให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527ทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8510 ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่8511 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุวรรณ ธูปกรณ์ ส่วนด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 8509 ติดกับที่ดินของนายวิจิตรบัวทอง โจทก์ทั้งสองปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และใช้ทางพิพาทตามฟ้องเป็นทางเข้าออกจากบ้านสู่ถนนพญาเสือ คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและทางภารจำยอมหรือไม่
สำหรับปัญหาข้อที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อที่ดินโฉนดตราจองที่ 3369 มีทางออกสู่ถนนพญาเสือซึ่งเป็นทางสาธารณะอยู่แล้ว ส่วนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดตราจองที่ 3369 ดังนี้โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินออกสู่ทางสาธารณะได้เฉพาะในที่ดินโฉนดตราจองที่ 3369 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงที่โจทก์แบ่งแยกมาเท่านั้นทั้งนี้ตามบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350โจทก์ทั้งสองจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางพิพาทในที่ดินจำเลยซึ่งเป็นที่ดินแปลงอื่นเป็นทางเดินผ่านไปสู่ถนนพญาเสือซึ่งเป็นทางสาธารณะหาได้ไม่ ทางพิพาทจึงไม่เป็นทางจำเป็นแก่โจทก์ทั้งสองดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาจำเลยในปัญหานี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาข้อที่ว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองอ้างว่าใช้ทางพิพาทซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมมีผลเป็นการรอนสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่น จึงต้องมีหลักฐานชัดแจ้งมั่นคงว่า โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิในทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์หรือโดยพลการต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่โจทก์ทั้งสองเบิกความเป็นทำนองว่าไม่ได้ใช้สิทธิในทางพิพาทอย่างเป็นปรปักษ์หรือโดยพลการ หากแต่มีลักษณะว่าได้ใช้สิทธิในทางพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เจือสมพยานจำเลยดังได้วินิจฉัยข้างต้น พยานหลักฐานจำเลยจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสอง ดังนั้นไม่ว่าโจทก์ทั้งสองจะใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินเข้าออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองมานานเพียงใดก็ตาม คดีก็ฟังไม่ได้ว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมโดยอายุความดังที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง