แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่าโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินน.ส.3ก.เลขที่2239โดยสืบสิทธิครอบครองมาหลายทอดจากล.เจ้าของเดิมจำเลยที่1และที่2ขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของล. โดยอ้างว่าที่ดินตามน.ส.3ก.ดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของล. เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่1และที่2เป็นผู้จัดการมรดกแล้วจำเลยที่1และที่2ได้ขอแบ่งที่ดินตามน.ส.3ก.แปลงนั้นออกเป็น7ส่วนและโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกเป็นน.ส.3ก.เลขที่3145เนื้อที่8ไร่ให้แก่จำเลยที่3และที่4และโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกเป็นน.ส.3ก.เลขที่3146เนื้อที่4ไร่ให้แก่จำเลยที่5โดยจำเลยที่3ที่4และที่5ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสามขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสามและเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่1และที่2กับจำเลยที่3และที่4และกับจำเลยที่5ซึ่งเป็นการฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลืองทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นคดีมีทุนทรัพย์และที่ดินที่โจทก์ทั้งสามเรียกคืนจากจำเลยที่3และที่4เนื้อที่8ไร่ราคาไม่เกิน50,000บาทและเรียกคืนจากจำเลยที่5เนื้อที่4ไร่ราคาไม่เกิน50,000บาทเช่นกันคดีของโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่3และที่4และกับจำเลยที่5จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคหนึ่งดังนั้นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่3ที่4และที่5ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้ถือตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา238ประกอบมาตรา247 เมื่อที่พิพาทแปลงน.ส.3ก.เลขที่2239ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของล. จำเลยที่1และที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของล.ก็ไม่มีอำนาจขอแบ่งแยกที่พิพาทแปลงนี้ออกเป็นน.ส.3ก.เลขที่3145และ3146และไม่มีอำนาจโอนขายที่ดินน.ส.3ก.เลขที่3145ให้แก่จำเลยที่3ที่4และโอนขายที่ดินน.ส.3ก.เลขที่3146ให้แก่จำเลยที่5จำเลยที่3ที่4และที่5ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่1และที่2ผู้โอนซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าวและย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใดๆแก่จำเลยที่3ที่4และที่5ในกรณีเช่นนี้แม้จำเลยที่3ที่4และที่5เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนายบุญมา นากอกนายบุญมาเป็นบุตรนางสอน นากอก นางสอน กับนายสม ไชยาบิดาจำเลยที่ 1 และนางวงศ์ ไชยา บิดาจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนางลุน ไชยา เดิมที่พิพาทตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2239, 3144 และ3048 ตำบลเด่นราษฎรณ์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2, 3 และ 4 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน46 ตารางวา 1 งาน 12 ตารางวา และ 1 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวาตามลำดับ เป็นของนางลุน ยังไม่มีหนังสือสำคัญ ขณะที่นางลุนยังมีชีวิตอยู่ นางลุนได้ยกที่ดินดังกล่าวทั้งสามแปลงให้แก่นางสอนโดยส่งมอบการครอบครอง นางสอนได้เข้าครอบครองทำกินเรื่อยมาจนกระทั่งนางสอนถึงแก่กรรมไป นางลุนจึงได้ไปขอออก น.ส.3 ก.แทนนายบุญมาไว้ โดยนายบุญมาเป็นผู้ครอบครองทำกินสืบต่อจากนางสอน จนกระทั่งนางลุนถึงแก่กรรมไป เมื่อ พ.ศ. 2528 นายบุญมาก็ครอบครองทำกินต่อมาอย่างเจ้าของจนกระทั่งนายบุญมาถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2532 ที่พิพาททั้งสามแปลงจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสามร่วมกัน หลังจากนายบุญมาถึงแก่กรรมไปแล้วจำเลยที่ 1 ได้มากันเอา น.ส.3 ก. ของที่พิพาททั้งสามแปลงไปแล้วจำเลยที่ 1 ได้ไปยื่นคำร้องขอต่อศาลด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่านางลุนมีที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก.เลขที่ 2239 เป็นมรดกขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนจำเลยที่ 2ยื่นคำร้องคัดค้านขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนร่วมกับจำเลยที่ 1แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สมคบกันเบิกความเท็จว่าที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก.เลขที่ 2239 เป็นมรดกของนางลุนทำให้ศาลเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้ตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของนางลุน จากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2ก็ได้จดทะเบียนโอนที่พิพาททั้งสามแปลงมาเป็นของจำเลยที่ 1และที่ 2 แล้วได้แบ่งแยกที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 2239ออกเป็น 7 ส่วน และโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกไปเป็นน.ส.3 ก. เลขที่ 3145 เนื้อที่ 8 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 กับโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกไปเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 3146 เนื้อที่ 4 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 5 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 รู้ดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสามขอให้พิพากษาว่าที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ทั้งสามห้ามจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องและให้เพิกถอนการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า นางลุนไม่เคยยกที่พิพาททั้งสามแปลงให้แก่นางสอน นางลุนได้ครอบครองทำกินในที่พิพาทตลอดมาจนกระทั่งนางลุนถึงแก่กรรม ที่พิพาททั้งสามแปลงจึงเป็นทรัพย์มรดกของนางลุนอันจะตกได้แก่จำเลยที่ 1ที่ 2 และพี่น้องกับโจทก์ทั้งสามและพี่น้องนายบุญมาบิดาโจทก์ทั้งสามเข้าทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางลุนไม่มีสิทธิ ครอบครอง เนื่องจากทายาทไม่สามารถรับโอนและแบ่งปันมรดกกันได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้ขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนเพื่อจัดการแบ่งปันและขายเอาเงินมาทำบุญอุทิศกุศลให้แก่นางลุน จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 2239 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4จำนวน 8 ไร่ และขายให้จำเลยที่ 5 จำนวน 4 ไร่ เพื่อเอาเงินมาทำบุญให้นางลุนโดยความเห็นชอบของโจทก์ทั้งสามและญาติพี่น้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำไปโดยพละการ ไม่ได้เอาเงินที่ขายได้มาใช้ประโยชน์ส่วนตัว ส่วนที่ดินที่เหลือจำเลยที่ 1และที่ 2 พร้อมที่จะไปจดทะเบียนโอนและแบ่งแยกให้โจทก์ทั้งสามตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงแต่รอให้โจทก์ทั้งสามไปยื่นคำขอรับโอนและเสียค่าธรรมเนียมตามระเบียบเท่านั้นแต่โจทก์ทั้งสามกลับจะเอาที่พิพาททั้งหมดเป็นของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ได้จดทะเบียนโอนและแบ่งแยกกัน
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 รับโอนที่พิพาทตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 3145 และ 3164 จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว ทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวอย่างเจ้าของตลอดมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 3144 และ 3048 ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพรจังหวัดร้อยเอ็ด และโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 2239 ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดแปลงเดิมก่อนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลุน ไชยา จะดำเนินการแบ่งแยกที่ดิน ยกเว้นส่วนที่แบ่งขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยว ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2239 ตำบลเด่นราษฎร์อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด แปลงเดิมทั้งแปลงรวมทั้งส่วนตามน.ส.3 ก. เลขที่ 3145 และ 3146 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ดำเนินการแบ่งแยกและนำไปจดทะเบียนโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ห้ามไม่ให้จำเลยทั้งห้าและบริวารเข้าเกี่ยวข้องให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 3145 และ 3146ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 และกับจำเลยที่ 5 เสียนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยก
จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 2239, 3144 และ 3048ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เนื้อที่ 37 ไร่1 งาน 46 ตารางวา 1 งาน 12 ตารางวา และ 1 ไร่ 1 งาน14 ตารางวา ตามลำดับ โดยสืบสิทธิครอบครองมาหลายทอดจากนายลุน ไชยา เจ้าของเดิม ที่ดินทั้งสามแปลงรวมกันราคา100,000 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนโดยอ้างว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก.เลขที่ 2239 เป็นทรัพย์มรดกของนางลุน จนศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางลุนแล้วจำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ขอแบ่งที่ดินตาม น.ส.3 ก. เลขที่ 2239 ออกเป็น7 ส่วน และโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 3145เนื้อที่ 8 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 และโอนขายที่ดินที่แบ่งแยกออกเป็น น.ส.3 ก.เลขที่ 3146 เนื้อที่ 4 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทราบดีว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ทั้งสาม ขอให้พิพากษาว่าที่ดินทั้งหมดเป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสาม และเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 และกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นการเรียกคืนทรัพย์สินจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นคดีมีทุนทรัพย์และที่ดินที่โจทก์ทั้งสามเรียกคืนจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เนื้อที่ 8 ไร่ ราคาไม่เกิน 50,000 บาทและเรียกคืนจากจำเลยที่ 5 เนื้อที่ 4 ไร่ ราคาไม่เกิน 50,000 บาทเช่นกัน คดีของโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 และกับจำเลยที่ 5 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้ถือตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าที่พิพาททั้งสามแปลงเป็นของโจทก์ทั้งสาม ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางลุน จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5รับซื้อที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก. เลขที่ 2239 ในส่วนที่จำเลยที่ 1และที่ 2 แบ่งแยกออกเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 3145 และ 3146 ไว้โดยสุจริตและจดทะเบียนรับโอนโดยสุจริต และจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่วันจดทะเบียนซื้อขายจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า แม้ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของนางลุน แต่เมื่อยังมีชื่อนางลุนเป็นเจ้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลุนจึงมีอำนาจโอนขายให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5รับซื้อมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน ย่อมได้สิทธิครอบครองทั้งจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เข้าแย่งการครอบครองเกินหนึ่งปีย่อมได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย เห็นว่า เมื่อที่พิพาทแปลง น.ส.3 ก.เลขที่ 2239 ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางลุน จำเลยที่ 1 และที่ 2ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางลุนก็ไม่มีอำนาจขอแบ่งแยกที่พิพาทแปลงนี้ออกเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 3145 และ 3146ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และไม่มีอำนาจโอนขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3145 ให้แก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และโอนขายที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 3146 ให้แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2ผู้โอนซึ่งไม่มีสิทธิในที่ดินดังกล่าว ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม
พิพากษายืน