คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่เป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันจักต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2530โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินเพิ่มจากจำเลยที่ 2 เลขที่ 1039/2/00764 ให้โจทก์นำภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม 4,403,615.49 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใน 30 วันโจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบจึงได้ออุทธรณ์คัดค้าน ต่อมาจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้ลดภาษีที่เรียกเก็บลงคงเหลือเรียกเก็บเงินภาษี 2,773,676.24 บาท และเงินเพิ่ม 277,267.63บาท รวมเรียกเก็บทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,049,943.87 บาท โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เพราะที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำค่าใช้จ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ และ65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรมาหักเป็นค่าใช้จ่ายนั้น บางรายการเป็นการอ้างโดยไม่มีเหตุผลอ้างอิง กล่าวคือ รายการค่าจดทะเบียนรถยนต์หลักฐานเป็นชื่อผู้อื่นนั้นความจริงเป็นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรถยนต์ที่โจทก์ได้ขายให้แก่ลูกค้าที่กรุงเทพมหานคร ส่วนกรณีการขายรถยนต์ให้แก่ลูกค้าต่างจังหวัด โจทก์ก็จะขายผ่านผู้แทนจำหน่ายซึ่งโจทก์กับผู้แทนจำหน่ายมีข้อตกลงให้ผู้แทนจำหน่ายเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ดังนั้นที่จำเลยอ้างเหตุว่าโจทก์สามารถผลักภาระการออกค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนให้ลูกค้าได้ โจทก์จึงไม่มีรายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มกับเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เลขที่ 202 ก/2531/2ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มจำนวน 3,049,943.87บาท และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5เลขที่ 202 ข/2531/2 ที่ให้เปลี่ยนแปลงยอดขาดทุนสิทธิสำหรับปี2524 ใหม่ หรือให้จำเลยคำนวณเปลี่ยนแปลงแก้ไขการประเมินภาษีสำหรับปี 2523 และแก้ไขยอดขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2524 ใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าเพียงว่า โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในรายการค่าจดทะเบียนรถยนต์หลักฐานเป็นชื่อผู้อื่นหรือไม่ และจะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ …พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบมานั้นฟังได้ตรงกันว่ามีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนรถยนต์เป็นของผู้ซื้อจริงส่วนโจทก์หรือผู้ซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นั้น โจทก์มีนายสุทัศน์ คูหาวันต์ สมุห์บัญชีของโจทก์ นางสาวถาวร พัวศิริรักษ์ผู้ตรวจสอบภายใน และนายสมนึก ลิ้มลาภผล ซึ่งเคยทำงานอยู่แผนกทะเบียนของโจทก์ เบิกความได้ข้อเท็จจริงต้องกันว่า โจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนรถยนต์ให้เป็นชื่อของผู้ซื้อที่ซื้อรถยนต์จากโจทก์ และตามเอกสารหมาย จ.50 แผนที่ 51 ก็มีการลงรายการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทั้งโจทก์ยังได้นำผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์มาเบิกความถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้โดยนางสาวจิรภา ซื่อสัตย์ประเสริฐ นางละเอียด จิตรมั่น และนายไมตรีกรรณบูรพา กับนางชบา แจ่มใส ในฐานะพนักงานของบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อรถยนต์จากโจทก์เบิกความต้องกันว่าค่าจดทะเบียนรถยนต์ให้เป็นของผู้ซื้อนั้น โจทก์เป็นคนออกอันเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ความตรงกันกับที่พนักงานของโจทก์เบิกความโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายไมตรีและนางชบานั้นเป็นพนักงานของบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสเม้นท์ จำกัด ถ้าบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่นายไมตรีและนางชบาจะมาเบิกความตามที่กล่าว เพราะจะทำให้บริษัทที่ตนทำงานอยู่ต้องเสียสิทธิในการหักค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ส่วนจำเลยทั้งห้าไม่มีพยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คงมีแต่คำของนางเพียงพรรณ พิฤทธิ์บูรณะ และนางสาวนฤมล นาคศรีชุ่มมาเบิกความเพียงว่า ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมในเรื่องดังกล่าวมิได้ออกในชื่อของโจทก์เท่านั้น และในข้อนี้โจทก์ก็มีสิบตำรวจโทอนันต์ พันธ์พฤกษ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เคยทำหน้าที่อยู่ในแผนกทะเบียนรถยนต์ มาเบิกความได้ข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันกับที่ได้ความจากคำของพยานโจทก์ที่เป็นพนักงานของโจทก์ตามที่กล่าวข้างต้นว่าในทางปฏิบัตินั้นการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมจะออกในชื่อของผู้ครอบครองหรือเจ้าของรถ ดังนั้น การที่ใบเสร็จรับเงินมิได้มีชื่อของโจทก์ไม่ใช่ข้อที่จะแสดงให้เห็นเป็นการแน่นอนว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ กรณีต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริง ๆ ว่าโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หรือไม่ เมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในรายการค่าจดทะเบียนรถยนต์หลักฐานเป็นชื่อผู้อื่น และค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นการจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่เป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันจักต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(9) การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ไม่ยอมให้โจทก์นำรายจ่ายในส่วนนี้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจึงเป็นการไม่ชอบ…”
พิพากษายืน.

Share