คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งคำร้อง ของ โจทก์ในตอนแรกว่านัดสืบพยานโจทก์ตามขอ ซึ่งหมายถึงวันที่ 16 มีนาคม 2533เวลา 13.30 นาฬิกา ดังนั้นการที่ศาลหรือเจ้าพนักงานศาลมาเปลี่ยนวันนัดสืบพยานโจทก์ใหม่เป็นวันที่ 2 มีนาคม 2533เวลา 9 นาฬิกา เป็น การกำหนดหรือปฏิบัติผิดไปจากคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วโดยชัดแจ้ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวหรือได้มีการออกหรือส่งหมายนัดดังกล่าวไปให้โจทก์ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาและไม่มีพยานมาสืบให้ยกฟ้องโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงยังไม่ชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 98,015.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 มกราคม 2533 ขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การและนัดสืบพยานโจทก์ วันที่ 16 มีนาคม 2533เวลา 13.30 นาฬิกา ศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การนัดสืบพยานโจทก์ตามขอ หมายแจ้งวันนัดให้จำเลยทั้งสองทราบ ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน และในคำร้องของ โจทก์ดังกล่าวยังปรากฏมีข้อความถัดจากที่ศาลชั้นต้นสั่งลงมาข้างล่างอีกว่านัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 มีนาคม เวลา 9 นาฬิกา หมายนัดโจทก์จำเลยไม่พบหรือไม่มีผู้ใดรับแทนโดยชอบให้ปิดหมาย ต่อมาเมื่อวันที่2 มีนาคม 2533 จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 2 มีนาคม 2533 เวลา 9 นาฬิกา โจทก์ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบและขาดนัดพิจารณาของให้ยกฟ้องโจทก์เสีย ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องและมีคำสั่งว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณาและไม่มีพยานมาสืบ ให้ยกฟ้องโจทก์ และจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำร้องสองฉบับ ฉบับแรกความว่า โจทก์ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่16 มีนาคม 2533 เวลา 13.30 นาฬิกา ตามขอ วันที่ 2 มีนาคม 2533ทนายโจทก์นัดความไว้ก่อนแล้วที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี โจทก์ไม่ทราบว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 มีนาคม 2533 จึงมิได้ขอเลื่อนคดี ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุจะพิจารณาคดีใหม่ ยกคำร้องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ ส่วนฉบับหลังความว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องและจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ และที่ให้ยกคำร้องฉบับแรกของโจทก์นั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 16 มีนาคม 2533 เวลา13.30 นาฬิกา โจทก์ไม่ทราบคำสั่งที่ให้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่2 มีนาคม 2533 เวลา 9.00 นาฬิกา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2533ทนายโจทก์ได้มาขอทราบคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่แจ้งว่าสำนวนยัง ไม่ลงมาและเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2533 โจทก์ได้ตรวจดูสำนวนจึงทราบว่าศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีโจทก์ไปแล้ว และพบว่าในคำร้องของ โจทก์ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2533 มีข้อความว่า “นัดสืบพยานโจทก์วันที่2 เดือนมีนาคม เวลา 9.00 นาฬิกา หมายนัดโจทก์ จำเลย ไม่พบหรือไม่มีผู้ใดรับแทนโดยชอบให้ปิดหมาย” โดยไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้รับผิดชอบข้อความดังกล่าว และไม่มีการส่งหมายนัดสืบพยานให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวศาลชั้นต้นสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณานัดสืบพยานโจทก์ต่อไป แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของ โจทก์ในตอนแรกว่า นัดสืบพยานโจทก์ตามขอ ซึ่งหมายถึงวันที่ 16 มีนาคม 2533เวลา 13.30 นาฬิกา ตามที่ปรากฏอยู่ในท้ายคำร้องของ โจทก์โดยชัดแจ้งแล้ว ดังนั้น การที่ศาลหรือเจ้าพนักงานศาลมาเปลี่ยนวันนัดสืบพยานโจทก์ใหม่เป็นวันที่ 2 มีนาคม 2533 เวลา 9 นาฬิกา เป็นการกำหนดหรือปฏิบัติผิดไปจากคำสั่งเดิมของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้วโดยชัดแจ้งเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวหรือได้มีการออกหรือส่งหมายนัดดังกล่าวไปให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่า โจทก์ขาดนัดพิจารณาและไม่มีพยานมาสืบ ให้ยกฟ้องโจทก์ และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงยังไม่ชอบ โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27
พิพากษายืน

Share