คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4570/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ในคำอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดในการเสียภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แต่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านว่าการตัดรายการจำหน่ายหนี้สูญสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ของโจทก์ออกเป็นผลให้โจทก์ไม่มีผลขาดทุนสุทธิไปหักเป็นรายจ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521ทำให้รอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 มีกำไรสุทธิตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติว่า “การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว…” หนี้ดังกล่าวมิได้กำหนดว่าจะต้องเป็นหนี้เฉพาะทางการค้าของโจทก์เท่านั้น หนี้ที่เกิดจากกรรมการของโจทก์ยักยอกถือเป็นหนี้อย่างหนึ่งที่สามารถจำหน่ายเป็นหนี้สูญได้ เพียงแต่โจทก์ต้องปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้
เมื่อโจทก์ทราบว่า พ. ยักยอกเงินไป โจทก์ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอก ทั้งโจทก์ได้ฟ้องห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ค. ซึ่ง พ. เป็นหุ้นส่วนอยู่จนได้รับชำระหนี้มาแล้วส่วนหนึ่ง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้รายนี้แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้เรียกร้องเอาจากกรรมการคนอื่นที่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คที่ พ.เอาไปเบิกเงินแล้วยักยอกไป เมื่อปรากฏว่า พ. แต่ผู้เดียวเป็นผู้ยักยอกโดยบุคคลที่ลงลายมือชื่อร่วมด้วย มิได้รู้เห็นหรือรับประโยชน์จากการที่ พ. ยักยอกแต่ประการใด ทั้งโจทก์ปฏิบัติการจนสุดความสามารถที่จะให้ได้รับชำระหนี้และไม่สามารถจะเอาทรัพย์สินจาก พ. มาชำระหนี้ได้ โจทก์ย่อมจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีได้

Share