คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3268/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ก็มีหน้าที่นำสืบให้เต็มตามฟ้อง และคดียังมีประเด็นตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ว่า โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่จำเลยที่ 2 มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่อยู่อีกด้วย การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้คู่ความสืบเฉพาะประเด็นว่าโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1ครบถ้วนหรือไม่ จึงไม่ถูกต้อง ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์โจทก์ชำระเงินบางส่วนในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือให้โจทก์ผ่อนชำระและตกลงว่าเมื่อผ่อนชำระครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะโอนทะเบียนให้โจทก์โดยจำเลยที่ 1 มอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ครอบครองตลอดมา เมื่อโจทก์ผ่อนชำระเงินค่าซื้อรถให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ถูกจำคุกในคดีอื่น จึงไม่อาจโอนทะเบียนให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 จะยึดรถยนต์พิพาทจากโจทก์ โดยอ้างว่ารับโอนทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 แล้วซึ่งการโอนทะเบียนรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ เป็นการร่วมกันทำฉ้อฉลโจทก์ ขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถยนต์พิพาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพราะเดิมจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกู้ยืมเงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเพื่อซื้อรถยนต์พิพาท โดยมีข้อตกลงว่าระหว่างผ่อนชำระหนี้เงินกู้ห้ามจำหน่ายรถยนต์พิพาทโดยประการใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ยังผ่อนชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทไปขายให้โจทก์ และโจทก์ทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงไม่สุจริตในการทำสัญญาต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกไล่ออก จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงเข้าทำสัญญารับสภาพหนี้ชดใช้ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแทนจำเลยที่ 1องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจึงได้โอนทะเบียนรถยนต์จากชื่อจำเลยที่ 1 มาเป็นของจำเลยที่ 2 โดยสุจริต จำเลยที่ 2 ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และโจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 300 บาท ขอให้ยกฟ้องและเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 2 กับให้ใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยทราบถึงสัญญาและข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโจทก์ได้สิทธิมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้ว จำเลยที่ 2 ยังมิได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 2 จึงยังไม่ได้รับช่วงสิทธิจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และหากรับช่วงสิทธิมาก็ได้แต่ฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นกำหนดให้คู่ความสืบพยานประเด็นเดียวว่า โจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้วหรือไม่ แล้วพิจารณาพิพากษาให้เพิกถอนการโอนทางทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ม-0436 มหาสารคามระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์หรือนำไปส่งมอบไว้ที่นายทะเบียนรถยนต์มหาสารคาม แล้วให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ตกลงหรือยินยอมด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2ก็ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นว่า ตามคำฟ้องคำให้การและฟ้องแย้งคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์และจำเลยที่ 2มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1โดยรู้อยู่ว่าเป็นการทำนิติกรรมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ และประเด็นเรื่องค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 เรียกร้องจากโจทก์อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจะต้องฟังจากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบเสียก่อนจึงจะสามารถวินิจฉัยได้ เห็นว่าคดีนี้จำเลยที่ 1ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้สมจริงและเต็มตามฟ้อง นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นอันเนื่องมาจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 คำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์ที่ว่าโจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ 2มีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ได้หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายเพียงใดหรือไม่อยู่อีกด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้แล้ว คำสั่งกำหนดประเด็นของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงยังไม่ถูกต้อง
พิพากษายืน

Share