แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
นายจ้างมิได้มีข้อบังคับกำหนดให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างลูกจ้างไว้เป็นกิจจะลักษณะ คำสั่งของนายจ้างที่สั่งว่า”อนุมัติให้จัดได้” เป็นเพียงอนุญาตให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างลูกจ้างได้เท่านั้น ส่วนลูกจ้างคนใดจะเข้าแข่งขันหรือไม่มิได้มีการบังคับอันจะถือว่าเป็นคำสั่งให้ลูกจ้างผู้นั้นต้องลงแข่งขัน เมื่อปรากฏว่าลูกจ้างสมัครใจลงแข่งเองและถึงแก่ความตายจึงถือไม่ได้ว่าลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างนายจ้างหาจำต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายบรรเจิด พุทธฉันท์ ลูกจ้างของบริษัทประจวบอุตสาหกรรม จำกัดนายบรรเจิดได้ลงทำการแข่งขันกีฬาประจำปีอันเป็นนโยบายของนายจ้างที่ลูกจ้างทุกคนจะต้องลงแข่งขันประเภทหนึ่งขณะทำการแข่งขันนายบรรเจิดเป็นลมเนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตกและถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอเงินทดแทนต่อพนักงานเงินทดแทนสำนักงานแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่านายบรรเจิดประสบอันตรายขณะแข่งกีฬาภายในมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทนชอบแล้ว โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นเงินเดือนละ 2,011.50 บาท มีกำหนด 5 ปี เป็นเงิน120,690 บาท นับแต่นายบรรเจิดถึงแก่ความตายจนกว่าจะครบ
จำเลยให้การว่า การที่นายบรรเจิดถึงแก่ความตายมิใช่การประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง การแข่งขันกีฬาภายในไม่ใช่นโยบายหรือกิจการของนายจ้าง นายบรรเจิดได้กระทำด้วยความสมัครใจตนเอง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานแรงงานจังหวัดกาญจนบุรีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วได้ความว่างานประจำของนายบรรเจิดคือหัวหน้ากะหม้อปันอันเป็นกิจการของบริษัทประจวบอุตสาหกรรม จำกัด ผู้เป็นนายจ้างนายชลิต อัจฉริยวงศ์ ประธานกรรมการจัดกีฬาสีประจำปีพ.ศ. 2529 ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 ถึงผู้จัดการโรงงานน้ำตาล บริษัทประจวบอุตสาหกรรม จำกัดขออนุญาตจัดกีฬาสีประจำปี พ.ศ. 2529 ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 1โดยได้แนบรายชื่อของนักกีฬาที่จะลงแข่งขันหลายประเภทโดยนายบรรเจิดเป็นผู้เล่นกีฬาชักเย่อ กลุ่มสีขาว ลำดับที่ 13ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 และผู้จัดการโรงงานน้ำตาลบริษัทประจวบอุตสาหกรรม จำกัด ได้มีคำสั่งว่า “อนุมัติให้จัดได้”ศาลฎีกาเห็นว่า บริษัทประจวบอุตสาหกรรม จำกัด ผู้เป็นนายจ้างมิได้มีข้อบังคับกำหนดให้มีการแข่งขันกีฬาระหว่างลูกจ้างไว้เป็นกิจจะลักษณะ คำสั่งของผู้จัดการโรงงานประจวบอุตสาหกรรม จำกัดที่สั่งว่า “อนุมัติให้จัดได้” นั้น เป็นเพียงอนุญาตให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างลูกจ้างได้เท่านั้น ส่วนลูกจ้างคนใดจะเข้าแข่งขันหรือไม่ มิได้มีการบังคับอันจะถือว่าเป็นคำสั่งให้ลูกจ้างผู้นั้นต้องลงแข่งขัน ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งของนายจ้างที่ให้นายบรรเจิดต้องลงแข่งขันแต่อย่างใดเมื่อนายบรรเจิดสมัครใจลงแข่งเองเช่นนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่านายบรรเจิดประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของสำนักงานแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี ตามหนังสือที่ กจ.0024/2179 ลงวันที่23 ธันวาคม 2529 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ มท.1111/7162 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2530 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์