คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3268/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 56,57 ผู้ที่จะมีสิทธิร้องขอต่อ คชก.ตำบล วินิจฉัยเกี่ยวกับ ที่ดินที่เช่า และอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลต่อ คชก.จังหวัด เมื่อ ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ นั้น จะ ต้องเป็นกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า แต่ ขณะ ที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับโจทก์ มิใช่ผู้เช่า นา พิพาท จาก จำเลยจึงมิใช่ผู้เช่าตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์จึง ไม่มี สิทธิ ร้องขอ ต่อ คชก.ตำบล วินิจฉัยหรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัด ต่อ ศาล โจทก์ จึงไม่อาจนำปัญหาในฐานะผู้เช่านาเดิม และการเช่าระงับไปแล้วนั้นมาอาศัยสิทธิดังกล่าวได้.

ย่อยาว

โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรปราการ (คชก.จังหวัด) ว่า โจทก์ขายฝากที่นาพิพาทเนื้อที่ 23 ไร่ 3 งาน ให้แก่จำเลย เป็นเงิน 38,500 บาทมีกำหนด 3 ปี และดจทก์ได้เช่านาพิพาททำนาตลอดระยะเวลาไถ่คืนตามสัญญา โจทก์ไม่ได้ไถ่นาพิพาทตามเวลากำหนดในสัญญา และจำเลยแสดงเจตนาเสนอขายนาพิพาทเป็นหนังสือต่อโจทก์ซึ่งอยู่เฉพาะหน้ากัน ณ ที่ว่าการอำเภอบางพลี ในราคา 150,000 บาท และ โจทก์ได้แสดงความจำนงซื้อนาพิพาทเป็นการสนองรับคำเสนอของจำเลยต่อหน้าประธานกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอ ฉะนั้นนาพิพาทย่อมโอนเป็นของโจทก์ในวันเดียวกันนั้นเองตามความในมาตรา 41 พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้ในเรื่องกำหนดวันชำระราคา และจำเลยมิได้บอกกล่าวทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้ โจทก์จึงขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปยังสำนักงานกลางช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน(สกช. หรือ ก.ส.ส. เดิม) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบางพลี (คชก.ตำบล)และคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัดสมุทรปราการ(คชก.จังหวัด) ตามลำดับ เพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยกำหนดวันชำระราคาและหรือมีคำสั่งให้โอนนาพิพาทกัน ตามความในมาตรา 3, 13(3), 53,56, 57, 58 และ 66 พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 คชก. ตำบล และ คชก.จังหวัด ไม่พิจารณาไกล่เกลี่ยกำหนดวันชำระราคา และหรือมีคำสั่งให้โอนนาพิพาทกันทางทะเบียนตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524เป็นเหตุให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้มิได้ คำวินิจฉัยของ คชก.ทั้งสองย่อมขัดต่อบทกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้วข้างต้น โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลตามความในพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57, 58 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477 มาตรา 221 ขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 178,716 บาท และดำเนินการโอนทางทะเบียนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ในกรณีที่จำเลยไม่อาจดำเนินการโอนด้วยประการได ขอให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นเจตนาของจำเลยเพื่อโจทก์จัดดำเนิดการโอนด้วยตนเองได้กรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ อันเป็นผลให้หนี้ระงับสิ้นไปให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของโจทก์ เป็นเงินในอัตราไร่ละ 250,000 บาท เนื้อที่นาพิพาทจำนวน 23 ไร่ 3 งาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,937,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้แสดงความจำนงจะซื้อขายนากันต่อ คชก.ตำบลในเบื้องต้น จนคชก.ตำบล และคชก.จังหวัด ได้มีคำวินิจฉัยในเรื่อวิธีการชำระเงินตามลำดับขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้แต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ” ข้อเท็จจริงยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ขณะที่พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มีผลใช้บังคับนั้นโจทก์มิใช่ผู้เช่านาที่พิพาทจำากจำเลย คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฏีกาของโจทก์เฉพาะในข้อที่ว่า โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั้งของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด(คชก.จังหวัด)สมุทรปราการตาคำร้องของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 56, 57 นั้น ผู้ที่จะมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) วินิจฉัยเกี่ยวกับที่ดินเช่าและอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ต่อคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) เมื่อไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าตามพระราชบัญญัตินี้ แต่กรณีของโจทก์ ในเมื่อข้อเท็จจริงยุติว่ามิใช่ผู้เช่านาจำเลยทำนาจึงมิใช่ผู้เช่าตามทีกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ดจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จำร้องขอต่อ คชก.ตำบลวินิจฉัยหรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลต่อ คชก.จังหวัดและอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลได้ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนการที่ดจทก์ได้มีข้อตกลงกับจำเลยไว้อย่างไรในขณะที่โจทก์เป็นผู้เช่าจากจำเลยอยู่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 นั้น ก็นเป็นกรณีที่ดจทก์จะฟ้องจำเลยได้ต่อไปตามสิทธิที่กล่าวอ้างว่ามีอยู่ไม่อาจนำปัญหาในฐานะผู้เช่านาเดิมและการเช่าระงับไปแล้วนั้นมาอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 อีกได้ในเมื่อโจทก์มิใช่ผู้เช่านาตามพระราชบัญญัตินี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั้งของ คชก.จังหวัดต่อศาลนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share