แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งปลดจากล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้ ทั้งทำให้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณีที่ไม่หลุดพ้น รวมทั้งหนี้เกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 77 ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วหรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 ไม่ เมื่อหนี้คดีนี้เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากร แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 2 เคยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกปลดจากล้มละลาย จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 89 ในคดีนี้ได้ ทั้งถือไม่ได้ว่ามีการขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซ้ำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 15 แต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 เนื่องจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1051/2544 ของศาลล้มละลายกลางก่อนแล้ว และมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดกับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย คดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย ศาลไม่รับฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ 1051/2544 เมื่อมูลหนี้คดีนี้เกิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ก็ชอบที่จะไปขอรับชำระหนี้ในคดีดังกล่าว การที่โจทก์มาขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 อีก จึงต้องห้ามตามมาตรา 15 ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จะปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เคยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 1051/2544 แล้วก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2548 ศาลมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 2 จากล้มละลาย มีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนเองได้นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายทั้งทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่ (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 เมื่อหนี้ในคดีนี้เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากร จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ แม้โจทก์จะไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 2 เคยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 บัญญัติแต่เพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระแล้ว หรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ นอกจากนี้การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ภายหลังจำเลยที่ 2 ถูกปลดจากล้มละลายแล้ว ถือไม่ได้ว่ามีการขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซ้ำ อันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้รับคำร้องของโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการไต่สวนแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ