คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12239-12405/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยรับว่ามอบให้ ธ. ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยที่จังหวัดสงขลาเป็นตัวแทนของจำเลยในการประชุมแจ้งเรื่องให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดไปทำงานที่บริษัท ซ. ธ. จึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย จึงเป็นตัวแทนและนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และจำเลยซึ่งเป็นตัวการจะต้องผูกพันต่อลูกจ้างและโจทก์ทั้งหมดในการกระทำของ ธ. ที่ได้กระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 ดังนั้น การที่ ธ. แจ้งต่อที่ประชุมว่าขอให้ลูกจ้างทั้งหมดไปทำงานที่บริษัท ซ. หากไม่ไปจะไม่จ่ายค่าจ้าง แม้การทำงานของโจทก์ทั้งหมดในบริษัทใหม่จะเป็นการทำงานเช่นเดิม แต่โจทก์ทั้งหมดไม่ยอมทำตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ทั้งหมดไม่ได้ เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งหมดที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดแล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดสำนวน ศาลแรงงานภาค 9 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 167ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลย นางสาวธิติมาเป็นตัวแทนของจำเลยมีอำนาจบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 167 ได้หรือไม่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามว่า นายจ้างหมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลด้วย เมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคล นางสาวธิติมาเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยที่จังหวัดสงขลา และจำเลยรับว่า มอบให้นางสาวธิติมาเป็นตัวแทนของจำเลยในการประชุมแจ้งเรื่องให้พนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งหมดไปทำงานที่บริษัทซีเวลท์โฟรเซ่นท์ ฟู้ด จำกัด นางสาวธิติมาจึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยจึงเป็นตัวแทนและเป็นนายจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 บัญญัติว่า “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทน หรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน” ซึ่งมีความหมายว่า กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทน เป็นการกระทำของตัวการ จำเลยผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกคือลูกจ้างและโจทก์ทั้งหมดในการกระทำของนางสาวธิติมาที่ได้กระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลย ดังนั้น การที่นางสาวธิติมาแจ้งต่อที่ประชุมตามที่ศาลแรงงานภาค 9 ฟังมาว่า ขอให้ลูกจ้างทั้งหมดไปทำงานที่บริษัทซีเวลท์ โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด แต่ลูกจ้างทั้งหมดไม่ยอมไปนางสาวธิติมาบอกว่า ทางจำเลยไม่มีเงินจ่าย หากพนักงานไม่ไปตัวนางสาวธิติมาเองก็ไม่มีเงินจ่ายเหมือนกัน ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง การที่นายจ้างกระทำการใด ๆ ต่อลูกจ้างที่เป็นการแสดงว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง และหมายรวมถึงกรณีที่นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่อาจประกอบกิจการต่อไปได้ ถือเป็นการเลิกจ้าง ดังนั้น การที่นางสาวธิติมาซึ่งเป็นตัวแทนนายจ้างแจ้งต่อลูกจ้างและโจทก์ทั้งหมดว่าให้ทุกคนไปทำงานที่บริษัทซีเวลท์ โฟร์เซ่น ฟู้ด จำกัด หากไม่ไปจะไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้ แม้การทำงานของโจทก์ทั้งหมดในบริษัทใหม่จะเป็นการทำงานเช่นเดิมแต่โจทก์ทั้งหมดไม่ยอมทำตามจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ทั้งหมดไม่ได้ เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งหมดที่จะไปทำงานกับบริษัทใหม่หรือไม่ก็ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง ทั้งมาตรา 118 วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติว่า การเลิกจ้างต้องกระทำเป็นหนังสือจึงบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ และถือว่านางสาวธิติมาเป็นตัวแทนของจำเลยมีอำนาจบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 167 ได้ ศาลแรงงานภาค 9 วินิจฉัยในประเด็นนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share