คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบรับมัดจำค่าเช่าในกรณีที่ตกลงกันว่าจะทำสัญญาเช่าเป็นหนังสืออีก เมื่อไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ผู้เช่ายกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้ไม่ได้
ข้อที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อที่ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นไม่ได้เพราะพฤติการณ์นอกเหนือนั้น แม้ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้ แต่ศาลอุทธรณ์จะไม่ยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาทให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 2,250 บาท จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกพิพาท ซึ่งอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท และจำเลยมิได้โต้แย้งกรรมสิทธิ์ จำเลยฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่เพราะโจทก์มิได้กล่าวในฟ้องว่า โจทก์ขับไล่จำเลยโดยอาศัยสิทธิอันใด และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เพราะโจทก์ฟ้องคดีภายหลังที่สัญญาเช่าตึกพิพาทระหว่างโจทก์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สิ้นกำหนดเวลาแล้ว เป็นการไม่ชอบนั้น จำเลยอ้างว่า ปัญหาแรกเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนปัญหาหลังเป็นปัญหาที่จำเลยไม่อาจยกขึ้นอ้างได้ในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ การที่จำเลยมิได้ยกปัญหาทั้งสองขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นเหตุต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518มาตรา 4 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ก็จริง แต่ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะไม่ยกขึ้นวินิจฉัยได้ในเมื่อไม่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีหนังสือหมาย ล.1 เป็นหลักฐานการเช่าตึกพิพาทจึงยกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้ได้นั้น พิเคราะห์แล้ว หนังสือหมาย ล.1 มีข้อความว่า”ได้รับเงิน 1,000 บาท (หนึ่งพันบาท) เป็นค่ามัดจำตึกแถวเฉพาะชั้นล่างขนาด4.20 X 8.00 จากคุณสามารถไว้แล้ว โดยตกลงเช่าชั้นล่างเดือนละ 1,800 บาทเช่าชั้นบนเดือนละ 1,000 บาท ซึ่งจะได้ชำระเงินล่วงหน้าเท่ากับ 4 เดือนของค่าเช่า ทั้งนี้ภายในกำหนดเดือนเมษายน 2518″ โดยบิดาโจทก์ลงนามรับมัดจำเห็นว่าหนังสือนี้เป็นหลักฐานฟังได้ว่า โจทก์ได้รับเงินมัดจำค่าเช่าตึกแถวจากจำเลยแล้ว แต่ได้ความตามคำจำเลยว่าบิดาโจทก์และจำเลยตกลงจะทำหนังสือสัญญาเช่ากันอีกภายหลังการให้มัดจำ ดังนี้ เมื่อไม่ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ยกเรื่องการเช่าขึ้นต่อสู้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 538”

พิพากษายืน

Share