แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีนี้แทนเพียงคดีเดียว แม้ใบมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรืออื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวซึ่งตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท เท่านั้น
ม. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความจึงมีอำนาจเรียงหรือแต่งคำคู่ความได้ เพราะการเรียงหรือแต่งคำคู่ความไม่ใช่การว่าความอย่างทนายความ
การที่โจทก์ชก น.นอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงาน เพราะมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน ทำให้ น.มีบาดแผลเล็กน้อยนั้น เป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยโดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงหรือทำลายเกียรติคุณของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าพาหนะเป็นการฟ้องเรียกเงินอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และจำนวนค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ก็มิได้นำค่าพาหนะมารวมคำนวณด้วย จึงไม่ต้องนำค่าพาหนะมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว
กรณีที่สินจ้างจ่ายกันในวันพฤหัสบดีเว้นหนึ่งวันพฤหัสบดีโดยวันอาทิตย์เป็นวันหยุด หนึ่งช่วงเวลาของการจ่ายค่าจ้างจึงเป็นเวลา 12 วัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำประเภทลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ ๗๘ บาท จำเลยจ่ายค่าพาหนะในการเดินทางมาทำงานโดยจ่ายเหมางวดละ ๙๐ บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย ไม่จ่ายค่าพาหนะในการเดินทางมาทำงานสำหรับงวดที่ต้องบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าและไม่ออกใบผ่านงานให้โจทก์ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ๑๔,๐๔๐ บาท ค่าชดเชย๗,๐๒๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑,๐๙๒ บาท ค่าพาหนะในการเดินทางมาทำงานสำหรับงวดที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยออกใบรับรองการผ่านงานให้โจทก์
จำเลยให้การว่า นายมานิต ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจที่จะเรียงหรือเขียนคำฟ้อง คำคู่ความแทนโจทก์ ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปิดอากรแสตมป์เพียง ๑๐ บาท ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์มีเรื่องโกรธเคืองกับนายนิเวศน์ ลูกจ้างของจำเลยที่มีตำแหน่งผู้บังคับบัญชา หลังเลิกงานโจทก์เสพสุรามึนเมาแล้วกลับมาที่ทำงาน แล้วโจทก์ได้ชกต่อยทำร้ายนายนิเวศน์จนได้รับบาดเจ็บไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงซึ่งผิดต่อข้อบังคับของจำเลยและกฎหมาย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย หรือสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าพาหนะนั้น จำเลยจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งมาทำงานเป็นรายวัน ไม่ใช่เหมาจ่าย ลูกจ้างไม่มาทำงานในวันใดก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าพาหนะ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว นายมานิตผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจเรียงฟ้องได้ โจทก์ชกนายนิเวศน์ลูกจ้างจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ต้องนำมาคำนวณการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๗,๐๒๐ บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๙๖๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย กับให้จำเลยออกใบผ่านงานให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายมานิตฟ้องคดีนี้แทนคดีเดียว มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีอื่นด้วย แม้ตามใบมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรืออื่น ๆ ได้ด้วยก็ตาม ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวซึ่งตามประมวลรัษฎากรบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสาร ๗ กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์๑๐ บาท ใบมอบอำนาจของโจทก์ซึ่งปิดอากรแสตมป์ ๑๐ บาท จึงเป็นการปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ นายมานิตย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้
นายมานิตได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑(๑๑) จึงมีอำนาจเรียงหรือแต่งคำคู่ความได้ ส่วนมาตรา ๖๐ วรรคสองนั้น ห้ามผู้รับมอบอำนาจเฉพาะมิให้ว่าความอย่างทนายความเท่านั้น ซึ่งการเรียงหรือแต่งคำคู่ความไม่ใช่เป็นการว่าความอย่างทนายความ จึงไม่ต้องห้าม คำคู่ความซึ่งเรียงหรือแต่งโดยนายมานิตผู้รับมอบอำนาจจึงเป็นคำคู่ความที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์กับนายนิเวศน์มีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน การที่โจทก์ชกต่อยนายนิเวศน์นอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงาน ทั้งชกต่อยเพียงหนึ่งทีซึ่งทำให้นายนิเวศน์ได้รับบาดแผลโลหิตซึม ๆ เท่านั้น เป็นเรื่องที่ลูกจ้างทำร้ายกันเอง ไม่เกี่ยวกับกิจการงานของจำเลยโดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงหรือทำลายเกียรติคุณของจำเลยถือไม่ได้ว่าความผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง กรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๓) ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และความผิดของโจทก์ดังกล่าวก็ไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๕๘๓ ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ตามฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าค่าพาหนะ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าพาหนะเป็นการฟ้องเรียกเงินอีกประเภทหนึ่งต่างหากแม้แต่คำขอท้ายฟ้อง จำนวนค่าชดเชยก็ดี หรือจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ดี โจทก์ก็มิได้นำค่าพาหนะมารวมคำนวณด้วย ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางนำค่าพาหนะมาคำนวณในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องถือว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างวันละ๗๘ บาท กรณีที่สินจ้างจ่ายกันในวันพฤหัสบดีและเว้นหนึ่งวันพฤหัสบดีโดยวันอาทิตย์เป็นวันหยุด หนึ่งช่วงระยะเวลาของการจ่ายค่าจ้างจึงเป็นเวลา๑๒ วัน เป็นเงิน ๙๓๖ บาท
พิพากษาแก้เฉพาะสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นว่า ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๙๓๖ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง