คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1282/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์จำเลย และอยู่ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษา เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 และมาตรา 227 เพราะที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อพิพาทมีว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ภาระการ พิสูจน์ตกโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ฟังได้ตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องแพ้คดีนั้นเป็นการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ ตามฟ้อง มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดีแต่ อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 เวลา 9.45 นาฬิกาซึ่งทนายโจทก์ก็มาศาลใน วันดังกล่าว และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 2 ธันวาคม 2531 เวลา 10 นาฬิกาโจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้ แต่มิได้โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน 2529 จำเลยได้ออกเช็คธนาคารเอเซีย จำกัด สาขาอุดรธานี ลงวันที่ 31 กรกฎาคม2529 จำนวนเงิน 850,000 บาท ให้โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชีที่ธนาคารดังกล่าวแต่ปรากฏว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คแล้วหลายครั้ง แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินจำนวน 850,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ลายมือชื่อตามเช็คไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2530โจทก์ขอเลื่อนคดี และต่อมาได้ขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุต่าง ๆอีกหลายนัด ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีเรื่อยมา จนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งที่ 10 ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่า ตัวโจทก์เดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อติดตามเอกสารที่จะใช้ประกอบการเบิกความซึ่งติดกระเป๋าภรรยาไปยังไม่กลับ ทนายจำเลยแถลงว่า โจทก์ขอเลื่อนคดีมาเป็นเวลาปีครึ่งแล้วยังไม่ได้สืบพยานเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขอเลื่อนคดีมาปีเศษแล้ว โดยไม่ได้สืบพยานเลยนัดที่แล้วศาลก็ได้กำชับว่าจะไม่ให้เลื่อนคดีอีก แต่โจทก์ก็เดินทางไปกรุงเทพมหานครแล้วไม่มาตามนัด ไม่มีเหตุสมควรให้เลื่อนคดีจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี วันนี้โจทก์ไม่มีพยานมาศาล ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบ ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 2 ธันวาคม 2531 เวลา 8.30 นาฬิกา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วนัดฟังคำพิพากษาไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายที่ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามมาตรา 24 และ มาตรา 227โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์ฎีกาได้โดยไม่ต้องโต้แย้งไว้ก่อน พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 บัญญัติเป็นใจความว่าก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใดไว้ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีและงดสืบพยานโจทก์จำเลย และอยู่ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษานั้นเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนศาลนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ตามมาตรา 226และมิใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24และมาตรา 227 เพราะที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อพิพาทมีว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ภาระการพิสูจน์ตกโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานมาสืบให้ฟังได้ตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องแพ้คดีนั้นเป็นการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ตามฟ้อง มิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายที่พิพาทกันในคดีแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2531 เวลา 9.45 นาฬิกา ซึ่งทนายโจทก์ก็มาศาลในวันดังกล่าวและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 2ธันวาคม 2531 เวลา 10 นาฬิกา โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งนั้นได้แต่มิได้โต้แย้ง จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
พิพากษายืน.

Share