คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3263/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องอุทธรณ์และพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จำเลยทั้งสองจึงฎีกาได้แต่เฉพาะว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีไปทีเดียวได้ต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนพิจารณาเสียก่อน และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่ามิได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์นั้นเป็นฎีกาเกี่ยวกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันส่วนจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ตกลงร่วมรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,451,111.75 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระแทน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ โดยยื่นอุทธรณ์ในฉบับเดียวกันเมื่อวันที่ 7เมษายน 2537 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 19 เมษายน 2537 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีลายมือชื่อของผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ให้มายื่นอุทธรณ์และรับทราบคำสั่งศาลลงนามรับทราบข้อความดังกล่าว ต่อมาวันที่ 18เมษายน 2537 ศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า “รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์ ให้จำเลยนำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้จำเลยแถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าทิ้งฟ้องอุทธรณ์” วันที่ 3 พฤษภาคม 2537 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า “ศาลได้ส่งหมายนัดมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 บัดนี้พ้นกำหนดระยะเวลาในการนำหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 หรือผู้แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่ง” ศาลชั้นต้นสั่งว่า “รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์”

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246พิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ เพราะหลังจากวันที่ 18 เมษายน 2537 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ไปติดต่อแผนกนำหมายของศาลชั้นต้นเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถนำส่งได้ เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่แผนกนำหมายของศาลชั้นต้นว่า หมายนัดยังไม่ออกและยังไม่ได้นำส่งหมายนัดมาที่แผนกนำหมาย จนกระทั่งหลังสุดในวันที่ 12พฤษภาคม 2537 ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงได้นำเงินค่านำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์มาวางไว้ล่วงหน้าที่แผนกนำหมายของศาลชั้นต้นเป็นเงินจำนวน 80 บาท ตามสำเนาบันทึกการรับชำระเงินค่านำหมายและจ่ายหมายเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 เหตุที่ไม่มีการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ของศาลชั้นต้น หาใช่เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 19 เมษายน 2537 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้มายื่นอุทธรณ์และรับทราบคำสั่งศาลลงนามรับทราบข้อความดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันดังกล่าว ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ผู้ยื่นอุทธรณ์จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 5 วัน โดยมีคำสั่งในวันที่ 18เมษายน 2537 จึงถือว่าคำสั่งศาลชั้นต้นนั้นได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชอบและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2537 ดังนั้นจำเลยที่ 1และที่ 2 ต้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 24 เมษายน 2537 ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์มาวางที่แผนกนำหมายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 นั้น แม้เป็นจริงก็ล่วงเลยเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดถึง 18 วัน ทั้งข้อที่อ้างเหตุว่ายังไม่สามารถนำส่งสำเนาอุทธรณ์ได้เพราะหมายนัดยังไม่ออกและยังไม่ได้นำส่งหมายนัดมาที่แผนกนำหมาย ก็ขัดต่อข้อเท็จจริงในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายนัดส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 และส่งหมายนัดดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่นำหมายตั้งแต่วันที่ 22เมษายน 2537 แล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอนึ่ง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ และพิพากษาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงฎีกาได้แต่เฉพาะว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ทิ้งฟ้องอุทธรณ์เท่านั้น ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์มาด้วยนั้น เห็นว่าแม้ฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังได้ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยฎีกาในเนื้อหาแห่งคดีไปทีเดียวได้ ต้องไปดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนพิจารณาเสียก่อน เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาข้อแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ซึ่งเป็นฎีกาเกี่ยวกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2 (ก) การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ซึ่งเกินกว่าที่ต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2″

พิพากษายืน คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2

Share