แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้สั่งจ่ายขออายัดเช็คหมาย จ.3 หลังจากธนาคารจำเลยที่ 2ทำการหักโอนเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีของโจทก์เสร็จสิ้นแล้วอันถือได้ว่ามีการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจำเลยที่ 2จึงไม่สมควรรับการอายัดของผู้สั่งจ่าย เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 รับการอายัดของผู้สั่งจ่ายแล้วโอนเงินจากบัญชีของโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีของผู้สั่งจ่าย ย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ประมวลระเบียบปฏิบัติงานธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นระเบียบภายในของธนาคารจำเลย ใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ส่วนกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 992 เป็นเรื่องที่ธนาคารยังมิได้มีการใช้เงินตามเช็คหรือหักโอนบัญชีตามเช็ค จึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ ทั้งกรณีตามคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 991 ด้วย และเมื่อโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.3 แม้ผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คหมาย จ.19 ให้โจทก์อีกแต่ก็ปรากฏว่าเรียกเก็บเงินตามเช็คหมาย จ.19 ไม่ได้ โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดกรณีตามเช็คหมาย จ.3 ได้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ผู้สั่งจ่ายแลกเปลี่ยนเช็คจากเช็คหมายจ.3 มาเป็นเช็คหมาย จ.19 แล้ว โจทก์ทราบดีว่าได้จ่ายเงินเกินยอดเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีของโจทก์ไม่มีเงินพอจ่ายแล้วแต่โจทก์ก็ยังสั่งจ่ายเช็คอีก เมื่อธนาคารจำเลยที่2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะยอดเงินตามบัญชีของโจทก์สูงเกินวงเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจากจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและผู้จัดการธนาคารสาขาจำเลยที่ 2ซึ่งโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้ เมื่อกลางเดือนมกราคม 2523 ร้านพิพัฒน์การยนต์มอบเช็คชำระหนี้จำนวนเงิน 71,000 บาท แก่โจทก์ เช็คดังกล่าวลงวันที่ 30 มกราคม 2523 สั่งจ่ายเงินจำนวน 144,347 บาท หากขึ้นเงินได้โจทก์ต้องคืนเงินจำนวนที่เหลือแก่ร้านพิพัฒนาการยนต์ ขณะรับเช็คจำเลยที่ 1 ยืนยันต่อโจทก์ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คดังกล่าวมีเงินในบัญชีพอจ่าย โจทก์จึงได้รับเช็คไว้ชำระหนี้ครั้นถึงวันครบกำหนด เวลาประมาณ 9 นาฬิกา โจทก์นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีที่ธนาคารจำเลยที่ 2 และธนาคารจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ว่าได้จัดการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงได้จ่ายเงินที่เหลือจำนวน 73,347 บาท ให้แก่ร้านพิพัฒน์การยนต์ไป ต่อมาในวันเดียวกันนั้น เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกาจำเลยที่ 1 แจ้งแก่โจทก์ว่าเช็คดังกล่าวผู้สั่งจ่ายขออายัดอ้างว่าออกเช็คซ้ำกัน โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับอายัด จำเลยที่ 1 ไม่ฟังได้ตัดบัญชีเงินฝากของโจทก์จำนวน 144,347 บาทออกจากบัญชี เป็นการกระทำการโดยมิชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจนบัดนี้ก็ยังมิได้คืนเช็คดังกล่าวให้โจทก์ แสดงว่าจำเลยที่ 1 สมคบกับผู้สั่งจ่ายเบียดบังเอาเงินโจทก์โดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,477 บาท รวมเป็นเงิน 150,824 บาท และโจทก์ได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำเลยที่ 2 รวม 4 ฉบับ ปรากฏว่าธนาคารจำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ ทั้งนี้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ตัดยอดบัญชีจำนวน 144,347 บาท ทำให้เงินในบัญชีโจทก์ไม่พอจ่าย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายในการประกอบธุรกิจการค้า ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 30,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเสียหายดังกล่าวแล้วพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่เคยติดต่อสอบถามจำเลยที่ 1 ว่าผู้สั่งจ่ายเช็คมีฐานะเป็นอย่างไร โจทก์และร้านพิพัฒน์การยนต์สมคบกันฉ้อฉลผู้สั่งจ่าย โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารจำเลยที่ 2ไม่เคยยืนยันต่อโจทก์ว่าได้จัดการโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์ดังที่โจทก์อ้าง เมื่อจำเลยที่ 1เห็นว่าบัญชีผู้สั่งจ่ายมีเงินพอจ่าย จึงให้เจ้าหน้าที่หักโอนเงินจากบัญชีผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีโจทก์ ขณะที่เจ้าหน้าที่หักโอนอยู่นั้น ผู้สั่งจ่ายได้มีคำบอกกล่าวห้ามการใช้เงินตามเช็คจำเลยที่ 2 จึงหมดอำนาจหน้าที่ที่จะใช้เงินตามเช็ค เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มลงมือหักโอนจะหยุดก็ไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงสั่งเจ้าหน้าที่ทำการหักโอนไปให้เสร็จแล้วหักโอนกลับเพื่อให้บัญชีทั้งสองอยู่ในสภาพเดิม ซึ่งมีผลเป็นการไม่ใช้เงินตามเช็คเพราะมีคำบอกห้ามการใช้เงิน จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบและสั่งให้เจ้าหน้าที่คืนเช็คแก่โจทก์ โจทก์ทราบแล้วไม่คัดค้านและว่าจะไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายและจะมารับเช็คคืนเอง จำเลยที่ 1จึงให้เจ้าหน้าที่งดการส่งเช็คคืนอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ได้สมคบกับผู้สั่งจ่ายเบียดบังเอาเงินโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2523 โจทก์ได้นำเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาพระประแดง ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2523สั่งจ่ายเงินจำนวน 144,347 บาท โดยผู้สั่งจ่ายคนเดิมมาเข้าบัญชีโจทก์ ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่จำเลยได้นำเช็คและใบคืนเช็คฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินคืนโจทก์ แต่โจทก์บอกว่าผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คฉบับที่นำมาเข้าบัญชีแก่โจทก์แทนฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินและให้จำเลยที่ 1 คืนเช็คฉบับที่ถูกห้ามการใช้เงินแก่ผู้สั่งจ่ายด้วย ครั้นถึงวันที่15 กุมภาพันธ์ 2523 ธนาคารจำเลยที่ 2 ส่งเช็คไปเรียกเก็บเงินรวม 3 ครั้ง แต่ละครั้งได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้รับเช็คและใบคืนเช็คไปจากจำเลยที่ 1 แล้วส่วนที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์ทั้งสี่ฉบับเพราะโจทก์เป็นหนี้เกินวงเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เงินในบัญชีโจทก์จึงไม่พอจ่าย การปฏิเสธการจ่ายเงินของจำเลยเป็นการชอบด้วยอำนาจหน้าที่โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและดอกเบี้ย หากจะเสียหายก็ไม่ถึงตามฟ้อง โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ก่อนฟ้องไม่เคยทวงถามหรือบอกกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 150,824 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีของเงิน 144,347 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 30,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คหมาย จ.3 เป็นเช็คสั่งจ่ายแก่ผู้ถือพยานโจทก์เบิกความต้องกันว่า นายพิภพหรือพิพัฒน์ได้รับเช็คหมาย จ.3 มาจากบริษัทเมืองสมุทรพันธุ์ปลาอาหารปลา จำกัด เป็นการชำระหนี้ แล้วนายพิพัฒน์นำเช็คหมาย จ.3 มาชำระหนี้ค่าน้ำมันเครื่องที่ซื้อไปจากโจทก์เป็นเงิน 71,000 บาท จำเลยมิได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับเช็คหมาย จ.3 มาจากนายพิภพโดยปราศจากมูลหนี้ ฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คหมาย จ.3 โดยชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองตัดยอดเงินตามเช็คหมาย จ.3 จำนวน 144,347 บาท ออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ได้ทำการหักโอนเงินตามบัญชีของบริษัทเมืองสมุทรพันธุ์ปลา อาหารปลา จำกัด เข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นจึงมีการตัดยอดเงิน 144,347 บาทจากบัญชีโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีบริษัทดังกล่าวอีก ที่จำเลยนำสืบว่ากำลังอยู่ระหว่างหักโอนบัญชี บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้โทรศัพท์ขออายัดเช็คหมาย จ.3 โดยแจ้งว่าออกเช็คซ้ำนั้น ขัดต่อเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ฟังไม่ได้ว่าขณะที่ผู้สั่งจ่ายเช็คหมายจ.3 ขออายัดเช็คนั้นธนาคารจำเลยที่ 2 อยู่ระหว่างหักโอนบัญชี โดยกำลังโอนเงินจากบัญชีผู้สั่งจ่ายเข้าบัญชีโจทก์ เมื่อธนาคารจำเลยที่ 2 ได้ทำการหักโอนทางบัญชีเสร็จสิ้นแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่าได้มีการจ่ายเงินตามเช็คหมาย จ.3 แล้วทำนองเดียวกับโจทก์นำเช็คหมาย จ.3 ไปขอรับเงินสดและธนาคารจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินสดตามเช็คหมายจ.3 แล้ว เมื่อผู้สั่งจ่ายขออายัดเช็คหมาย จ.3 หลังจากที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ทำการหักโอนทางบัญชีดังกล่าวแล้ว ธนาคารจำเลยที่ 2 จึงไม่สมควรรับการอายัดของผู้สั่งจ่าย การที่จำเลยที่ 1 และธนาคารจำเลยที่ 2 รับอายัดของผู้สั่งจ่ายแล้วโอนเงินจากบัญชีโจทก์กลับคืนไปยังบัญชีผู้สั่งจ่ายย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายเป็นผลให้โจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.3 ธนาคารจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงิน144,347 บาทแก่โจทก์ ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่ารับอายัดของผู้สั่งจ่ายไว้ชอบด้วยประมวลระเบียบปฏิบัติงานธนาคารจำเลยและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 857, 991 และ 992 นั้น เห็นว่าระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในของธนาคารจำเลย ใช้ยันบุคคลภายนอกไม่ได้ ทั้งตามระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึงการรับอายัดกรณีที่มีการหักโอนเงินทางบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว และกรณีตามคดีนี้ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 ส่วนมาตรา 992 ต้องเป็นเรื่องที่ธนาคารยังมิได้มีการใช้เงินตามเช็คหรือหักโอนบัญชีตามเช็ค จึงใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ สำหรับมาตรา 857 นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงเป็นข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 จึงไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าบริษัทผู้สั่งจ่ายเช็คหมาย จ.3 ได้สั่งจ่ายเช็คหมาย จ.19ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2523 จำนวนเงิน 144,347 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้นำเช็คหมาย จ.19 เข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เรียกเก็บไม่ได้ จำเลยทั้งสองจึงคืนเช็คหมาย จ.19 ให้โจทก์รับไปแล้ว ขณะฟ้องคดีโจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คหมายจ.19 มิใช่เช็คหมาย จ.3 เพราะได้มีการแลกเปลี่ยนเช็คแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่าเมื่อโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.3 อันแสดงว่าหนี้ตามเช็คหมาย จ.3ยังไม่ยุติ และผู้สั่งจ่ายได้ออกเช็คหมาย จ.19 มาให้โจทก์ โจทก์ย่อมหวังว่าจะได้รับเงินตามเช็คหมาย จ.19 จึงมอบให้จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงิน หากเรียกเก็บได้กรณีตามเช็คหมาย จ.3 ย่อมยุติเมื่อปรากฏว่าเรียกเก็บเงินไมไ่ด้โจทก์ย่อมดำเนินการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดกรณีตามเช็คหมาย จ.3 ได้ จะถือว่าโจทก์ยอมรับแลกเปลี่ยนเช็คยังไม่ถนัด
ปัญหาข้อสุดท้ายว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใดเห็นว่าโจทก์ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารจำเลยที่ 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละสิบแปดต่อปี ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองตัดยอดเงิน 144,347 บาท ออกจากบัญชีโจทก์โดยมิชอบ จึงต้องรับผิดชอบชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบแปดต่อปีในต้นเงิน ดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาทที่โจทก์เรียกร้องเนื่องจากโจทก์สั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ แล้วธนาคารจำเลยที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะยอดเงินตามบัญชีโจทก์สูงกว่าวงเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญานั้น เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าได้ทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าได้รับอายัดเช็คหมาย จ.3 ในวันที่30 มกราคม 2523 ต่อมาปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2523 จึงทราบตามใบแจ้งหนี้ว่าธนาคารจำเลยที่ 2 ได้ตัดยอดเงิน 144,347 บาทออกจากบัญชีโจทก์ แสดงว่าโจทก์ทราบดีว่าโจทก์ได้จ่ายเงินเกินยอดเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหรือบัญชีโจทก์มีเงินไม่พอจ่ายแล้ว ดังนั้นที่โจทก์สั่งจ่ายเช็ครวม 4 ฉบับ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่าบัญชีโจทก์ไม่มีเงินเช่นนี้ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจำนวนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหาย 30,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์