คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326-330/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อคณะเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ฟ้องเจ้าของอาคารให้รื้อถอนอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 มาตรา 12 ประกอบกับมาตรา 11 และศาลพิพากษาให้เจ้าของรื้อ ถ้าไม่รื้อก็ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจรื้อแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจรื้อได้ทีเดียวตามคำพิพากษานั้น โดยไม่ต้องฟ้องบุคคลซึ่งอยู่ในอาคารนั้นอีก เพราะกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการต่อเจ้าของอาคารและฟ้องเจ้าของอาคาร มิได้บัญญัติให้ดำเนินการหรือฟ้องผู้เช่า หรือบุคคลอื่นซิ่งมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของอาคารให้รื้อถอน การกระทำของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจึงไม่เป็นการละเมิดต่อผู้เช่าหรือบุคคลอื่นแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้ง ๕ สำนวนนี้ ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันว่า โจทก์เช่าตึกแถวห้องเลขที่ ๖๕๓, ๖๕๕, ๖๕๑, ๖๕๗, ๖๔๙ คนละห้องของวัตไตรมิตร ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของกองศาสนสมบัติ กรมการศาสนา โจทก์เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมา บัดนี้ จำเลยส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการรื้อตึกดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย เพราะไม่สามารถครอบครองใช้ประโยชน์ได้ตามปกติสุข และทรัพย์สินของโจทก์ในห้องได้รับความเสียหาย จึงขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับตึก และห้ามมิให้จำเลยและบริวารขัดขวางในการที่โจทก์จะใช้ตึก
จำเลยทุกสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์อยู่ในห้องพิพาทโดยละเมิดต่อกรมการศาสนา เพราะกรมการศาสนาได้เป็นเจ้าของฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย แล้วทำยอมกัน กรมการศาสนามีอำนาจรื้อถอนห้องพิพาทได้เพราะเป็นศาสนสมบัติของวัด ทั้งเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพ ในฐานะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้เป็นโจทก์ฟ้องกรมการศาสนา เป็นจำเลยให้รื้อถอนห้องพิพาท โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ศาลได้พิพากษาให้กรมการศาสนารื้อถอนตามคำพิพากษาศาลแพ่งแดงที่ ๖๕๗/๒๕๐๓ แล้ว แต่กรมการศาสนาไม่รื้อ จำเลยจึงมีอำนาจรื้อถอนได้เองตามอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารก่นอวันเข้ารื้อถอนจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าแล้ว จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ๆ ไม่ใช่เจ้าของอาคาร จะโต้แย้งคัดค้านใด ๆ ในการที่จำเลยปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายหาได้ไม่ ค่าเสียหายไม่ระบุว่าเป็นทรัพย์อะไรบ้าง จึงเคลือบคลุม
ศาลแพ่งสอบถามคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่ผิดกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าห้องพิพาทเป็นของวัดไตรมิตร กรมการศาสนาให้จำเลยเช่า แม้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับกรมการศาสนายอมออกจากห้องพิพาทก็ดี แต่โจทก์ก็ยังคงอยู่ในห้องพิพาทโดยเสียค่าเช่าแก่กรมการศาสนาตลอดมา คำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งแดงที่ ๖๕๗/๒๕๐๓ ผูกพันเฉพาะกรมการศาสนา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ฉะนั้น การที่จำเลยรื้อห้องพิพาทในระหว่างที่โจทก์ยังเช่าอยู่จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษากลับ ห้ามจำเลยและบริวารรื้อถอนห้องพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร มาตรา ๑๒ ประกอบกับมาตรา ๑๑ ให้อำนาจนายช่างเข้าตรวจอาคารใด ๆ ได้ ถ้าพบว่าอาคารหรือส่งนหนึ่งส่วนใดไม่แข็งแรง ไม่ปลอดภัย ก็มีอำนาจสั่งเจ้าของอาคารเลิกใช้หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข รื้อถอนเสียภายในเวลาที่กำหนดให้ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ร้องขอต่อศาล เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วเจ้าของไม่ปฏิบัติ กฎหมายก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการได้ตามที่เห็นสมควร ปรากฏตามคดีแดงที่ ๖๕๗/๒๕๐๓ ระหว่างเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ โจทก์ กรมการศาสนา จำเลย ว่าได้ตกลงทำยอมกัน ใจความว่า จำเลยยอมรื้อถอนอาคารตามฟ้องภายใน ๑ เดือน ถ้าไม่รื้อหรือไม่สามารถรื้อ ก็ให้โจทก์จัดการตามที่เห็นควร ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยใตคดีนี้มีสิทธิรื้อหรือเปลี่ยนแปลงอาคารนี้ได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. ๒๔๗๙ เนื่องจากกฎหมายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการต่อเจ้าของอาคารและฟ้องเจ้าของอาคาร มิได้บัญญัติให้ดำเนินการฟ้องผู้เช่าหรือบุคคลอื่นซึ่งมิได้อยู่ในฐานะเจ้าของอาคารให้รื้อถอนหรือเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น แม้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมิได้ฟ้องโจทก์ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในห้องพิพาท
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็มีสิทธิรื้อถอนหรือเปลี่ยนแปลงอาคารพิพาทตามคำพิพากษาของศาลและตามพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้ ทั้งจำเลยก็ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงการรื้อถอนแล้ว การกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยได้ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share