แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วม ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วม กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของลูกค้าที่จำเลยรับฝากไว้แทนโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมต้องใช้เงินให้แก่ลูกค้าไป โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหาย โจทก์ส่งสำเนาใบรับฝากเงิน เนื่องจากต้นฉบับหาไม่พบประกอบกับจำเลยไม่ได้คัดค้านว่าสำเนาใบรับฝากเงินไม่ถูกต้องอย่างไร จึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 238 วรรคหนึ่ง จำเลยรับฝากเงินรวม 2 ครั้ง แล้วไม่นำเงินไปมอบให้พนักงานรักษาเงินของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่รับฝากเงินและไม่ส่งมอบเงินแต่ละครั้งเป็นความผิดเป็นกรรม ๆ ไป จึงเป็นความผิดหลายกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353, 354, 91 และให้จำเลยใช้เงินจำนวน 550,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกสิกรไทย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 ประกอบมาตรา 354 รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปีรวมจำคุก 10 ปี ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 550,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น เห็นว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วมได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ร่วมกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตผิดระเบียบเกี่ยวกับการรับฝากเงินจากลูกค้าโจทก์ร่วม โดยปกปิดไม่แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าตนได้รับฝากเงินไว้จากลูกค้าของโจทก์ร่วม โดยจำเลยได้เบียดบังยักยอกเอาเงินที่จำเลยรับฝากไว้แทนโจทก์ร่วมนั้นไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมต้องใช้เงินให้ลูกค้าไป โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4)มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ส่งต้นฉบับใบรับฝากเงินต่อศาล ส่งแต่สำเนาใบรับฝากเงิน และไม่ใช่กรณีที่หาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ ศาลล่างทั้งสองรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 นั้น เห็นว่าได้ความจากนายปัญญาอุดม ตันฑิกุล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า สำเนาใบรับฝากเงินนั้น ตอนที่พยานได้รับจากนายธนาวุธนั้นเป็นต้นฉบับสำเนาใบรับฝากเงินนี้ก็มีข้อความตรงกับต้นฉบับที่พยานตรวจพบ และนายวีรวัฒน์ พงษ์สถิตย์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในการทักท้วงนายธนาวุธได้นำใบรับฝากเงินที่โจทก์ร่วม สาขาสุทธิสาร ออกให้แก่ลูกค้ามาแสดงทั้งสองรายการและยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้รับเงินจากนายธนาวุธ และเบิกความว่าเหตุที่เอกสารใบรับฝากเงินเป็นสำเนาเพราะต้นฉบับหาไม่พบดังนี้กรณีจึงเป็นเรื่องต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า “ต้นฉบับเอกสารเท่านั้นที่อ้างเป็นพยานได้ ถ้าหาต้นฉบับไม่ได้ สำเนาที่รับรองว่าถูกต้อง หรือพยานบุคคลที่รู้ข้อความก็อ้างเป็นพยานได้” โจทก์และโจทก์ร่วมมีทั้งสำเนาใบรับฝากเงินที่รับรองว่าถูกต้อง และมีพยานบุคคลโดยเฉพาะนายปัญญาอุดมที่รู้ข้อความมาเบิกความยืนยัน ประกอบกับจำเลยก็ไม่ได้คัดค้านว่าสำเนาใบรับฝากเงินนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร จึงรับฟังได้ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวนั้นเห็นว่า จำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยปกปิดไม่แจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าตนได้รับฝากเงินครั้งแรกจำนวน 300,000 บาท และครั้งหลัง250,000 บาท เมื่อจำเลยรับฝากเงินไว้แล้ว จำเลยมีหน้าที่นำใบรับฝากเงินไปมอบให้พนักงานบัญชีและส่งมอบเงินให้พนักงานรักษาเงินของโจทก์ร่วมทันที เมื่อจำเลยไม่ส่งมอบถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตกระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแล้ว การกระทำของจำเลยที่รับฝากเงินไว้และไม่ส่งมอบแต่ละครั้งเป็นความผิดเป็นกรรม ๆ ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์