คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3253/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สินค้าที่โจทก์นำเข้าบางส่วนไม่ตรงกับชนิดและราคาที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและแบบรายการการค้า จำเลยได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรใหม่และแจ้งให้โจทก์ทราบว่าอากรขาดไป และจำเลยเห็นว่ากรณีของโจทก์เป็นความผิดตามมาตรา 99,27 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ. 2469 สมควรทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับและให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน ซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ เมื่อโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วย จำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์การกระทำของจำเลยทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อว่าจำเลยกลั่นแกล้ง อันเป็นการจงใจให้โจทก์เสียหาย แต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้ปรับโจทก์ไม่ชอบให้ยกคำสั่งปรับของจำเลยและมีคำสั่งยกเลิกถอนการกักยึดสินค้ารายพิพาท และให้จำเลยปล่อยสินค้าให้โจทก์เพื่อส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน896,745.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารภารตโอเวอร์ซีส์ จำกัด เลขที่ แอล/จี 371/84 แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์นำสินค้าผ้าผืนทอด้วยเส้นใยประดิษฐ์จากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในราชอาณาจักรและยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าพนักงานของจำเลยโดยโจทก์แสดงความจำนงว่าจะนำสินค้าที่นำเข้ามาตามที่สำแดงไว้นั้นไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศภายใน 1 ปี นับแต่วันนำสินค้าเข้ามาและขอคืนเงินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482มาตรา 19 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329โดยโจทก์ขอรับเอาสินค้าที่นำเข้ามาทั้งหมดไปจากจำเลยและวางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการชำระเงินค่าภาษีอากรที่โจทก์จะต้องชำระสำหรับสินค้าที่นำเข้ามา จำเลยได้อนุมัติตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าของโจทก์ กับรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์นำมาวาง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบของจำเลยตรวจสอบสินค้าของโจทก์แล้วอ้างว่าโจทก์สำแดงรายการสินค้าในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าเกี่ยวกับจำนวนและชนิดของผ้าไม่ตรงตามความเป็นจริง การกระทำของโจทก์เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 99 ซึ่งแก้ไขแล้วจำเลยอาศัยอำนาจตามกฎหมายศุลกากรพิจารณาให้มีการทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยเปรียบเทียบปรับโจทก์เป็นจำนวน 2 เท่าของอากรขาเข้าที่ขาดเป็นเงิน 1,749,942.92 บาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมจำเลยจึงแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และกักยึดสินค้าของโจทก์ไว้เป็นของกลาง สินค้าของโจทก์จะเป็นการนำเข้าเพื่อผลิตทำขึ้นใหม่แล้วส่งกลับออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โจทก์ก็ต้องเสียภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จหากแต่โจทก์ได้รับอนุญาตให้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารแทนการเสียภาษีอากรเท่านั้น เมื่อโจทก์สำแดงรายการในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้าอันเป็นเท็จย่อมเป็นความผิดซึ่งจำเลยมีอำนาจกักยึดสินค้าของโจทก์ได้ตามกฎหมายศุลกากรและการที่จำเลยทำการประเมินอากรขาเข้าของโจทก์รวม 3 ครั้ง ก็เนื่องจากการประเมินสองครั้งแรกไม่ถูกต้องสำหรับค่าเสียหายของโจทก์นั้น หากโจทก์ได้รับสินค้าไปแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตและการขนส่งเป็นเงินประมาณ 170,000 บาทโจทก์จึงเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ให้ปรับโจทก์เป็นการไม่ชอบ ให้จำเลยปล่อยสินค้าพิพาทแก่โจทก์เพื่อส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารภารตโอเวอร์ซีส์จำกัด เลขที่ แอล/จี 370/84 แก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า โจทก์นำสินค้าผ้าพิพาทจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อจำเลยระบุสินค้าผ้า2 รายการ รายการที่ 1 ผ้าผืนใยประดิษฐ์หน้ากว้าง 44/45 นิ้วจำนวน 251 พับ ยาว 12,641 หลา ราคา 168,447.65 บาท รายการที่ 2ผ้าผืนเส้นใยประดิษฐ์หน้ากว้าง 44/45 นิ้ว จำนวน 762 พับ ยาว40,963 หลา ราคา 508,207.46 บาท รวมราคาสินค้า 676,655.11 บาทค่าภาษีอากร 614,600 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 หรือ จ.9 พร้อมกับบัญชีราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าผ่านธนาคารภารตโอเวอร์ซีส์ จำกัด แล้วตามเอกสารหมาย จ.8 จำเลยได้อนุมัติให้โจทก์นำสินค้าผ้าพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรได้โดยให้โจทก์วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระค่าภาษีอากรต่อจำเลย โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารภารตโอเเวอร์ซีส์จำกัด จำนวนเงิน 614,600 บาท ตามเอกสารหมาย จ.12 ต่อจำเลยเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสินค้าผ้าพิพาท พบว่ารายการที่ 1 เป็นผ้าผืนใยประดิษฐ์คนละชนิดกับที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 และผ้าดังกล่าวปะปนกันมา3 ชนิด รวมทั้งสิ้น 223 พับ ยาว 13,745 หลา รายการที่ 2 ชนิดผ้าตรงตามที่สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าแบบแสดงรายการการค้า เอกสารหมายล.1 จำนวน 706 พับ ยาว 38,562 หลา ไม่ตรงตามที่สำแดง 56 พับยาว 2,401 หลา ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.2 ผ้าดังกล่าวอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรเดียวกัน แต่ต่างกันที่ราคา จำเลยได้ประเมินราคาสินค้าและภาษีอากรใหม่ และแจ้งให้โจทก์ทราบว่าอากรขาดไป โจทก์ขอให้จำเลยพิจารณาทบทวนยอดอากรที่ขาด จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งให้ทราบว่าโจทก์สำแดงสินค้าผ้าพิพาทในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย ล.1 ไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้อากรขาดไป 874,971.46 บาทจำเลยเห็นว่ากรณีของโจทก์เป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 สมควรทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,749,942.92 บาท และให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน โจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วย จำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า ที่จำเลยกักยึดสินค้าโจทก์ไว้นั้นเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ดังกล่าวข้างต้น เป็นกรณีที่จำเลยปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายศุลกากรให้อำนาจไว้เริ่มตั้งแต่เปิดหีบห่อสินค้าของโจทก์เพื่อตรวจสอบ เมื่อพบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าบางส่วนไม่ตรงกับชนิดและราคาที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าและแบบรายการการค้า จำเลยเห็นว่า การเสียภาษีอากรขาเข้าของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงได้ประเมินภาษีอากรใหม่และการที่โจทก์สำแดงชนิดและราคาสินค้าในใบขนสินค้าและแบบรายการการค้าไม่ตรงกับสินค้าที่นำเข้ามา อาจเป็นความผิดซึ่งต้องรับโทษทางอาญาฐานสำแดงเท็จ จำเลยมีอำนาจที่จะกักยึดสินค้าที่พิพาทกันได้ และความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติศุลกากร ถ้าผู้กระทำผิดยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นสมควรก็อาจจะมีการงดการฟ้องร้องในความผิดนั้นซึ่งจำเลยได้เรียกโจทก์ไปตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,749,942.92 บาท อำนาจเหล่านี้เป็นอำนาจของจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร เมื่อโจทก์ไม่ตกลงยินยอมชำระภาษีอากรเพิ่มทั้งไม่ตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร จำเลยจึงส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวทั้งหมด ไม่มีพฤติการณ์ใดที่ส่อว่าจำเลยกลั่นแกล้งอันเป็นการจงใจให้โจทก์เสียหาย เมื่อจำเลยกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้และอยู่ในระหว่างที่จำเลยส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share