คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้หญิงรับใช้ในบ้านโจทก์เป็นภริยามาเป็นเวลานาน ถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาอยู่ จึงมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ทำให้จำเลยซึ่งเป็นคู่หมั้น ของโจทก์ไม่สมควรสมรสกับโจทก์ จำเลยมิใช่เป็นฝ่ายผิด สัญญาหมั้น จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนของหมั้นรวมราคา 426,500 บาทให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคา 426,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาหมั้นกับโจทก์จริงแต่หลังจากทำพิธีหมั้นแล้วยังมิได้กำหนดวันสมรสกัน โจทก์ประพฤติตนเสื่อมเสียเป็นที่น่าอับอายโดยให้หญิงรับใช้ภายในบ้านเป็นภรรยาจนเป็นที่รู้กันทั่วไป และปล่อยให้หญิงคนนั้นพูดจาเสียดสีจำเลยเป็นทำนองว่าจำเลยไปแย่งโจทก์เป็นสามี ทำความอับอายมาสู่จำเลยเป็นอย่างยิ่ง จำเลยจึงไม่สามารถสมรสกับโจทก์ได้ จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จำเลยบอกเลิกสัญญาหมั้นแก่โจทก์และยึดของหมั้นไว้เป็นค่าทดแทนความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยไม่ยินยอมสมรสกับโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ตกลงยินยอมโอนทรัพย์สินของโจทก์ให้จำเลยครึ่งหนึ่งก่อนนั้น นางสุทธินีย์ หิรัญญพิบูลย์ พยานโจทก์ก็ว่าบิดามารดาจำเลยมีฐานะดี ภายหลังที่จำเลยได้ทำพิธีหมั้นกับโจทก์แล้วจำเลยได้ยอมเปลี่ยนจากนับถือศาสนาพุทธไปทำพิธีนับถือศาสนาคริสต์ตามโจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.4 ถึง ล.7 ทั้งจำเลยได้ไปเยี่ยมเยียนมารดาโจทก์ที่โรงพยาบาลหลายครั้ง พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยพร้อมที่จะทำการสมรสด้วยกับโจทก์ การที่จำเลยไม่ยอมสมรสและบอกเลิกสัญญาหมั้น เชื่อว่าเหตุมาจากที่จำเลยทราบว่าโจทก์ได้นางสาวอำนวยเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ดังคำเบิกความของจำเลย นายวิษณุเงินพิสุทธิ์ศิลป์ บิดาจำเลยและนายวินิจ กลั่นกลอง พี่เขยจำเลยว่า โจทก์ยอมรับต่อบุคคลทั้งสามว่าโจทก์กับนางสาวอำนวยได้เสียเป็นสามีภรรยากันมานานแล้ว ถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาอยู่ จึงมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ทำให้จำเลยซึ่งเป็นคู่หมั้นของโจทก์ไม่สมควรสมรสกับโจทก์ จำเลยมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share